สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Waste Management สวิสสู่ไทย จิตสำนึกต้องสร้าง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

มีโอกาสได้ไปเยือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงอยากเก็บเกี่ยวสิ่งดี ๆ มาเล่าสู่กันฟัง นอกจากความสวยงามของธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์แล้ว ระบบการบริหารจัดการประเทศในหลาย ๆ เรื่องที่รัฐบาลสวิสดำเนินนโยบาย เพื่อจุดมุ่งหมายให้คุณภาพชีวิตของประชากรส่วนรวมดีขึ้น ถือเป็นความประทับใจอย่างมากสำหรับผู้ไปเยือนอย่างเราทีเดียว

ยกตัวอย่าง ระบบบริหารจัดการขยะ ที่รัฐบาลไทยเองเพิ่งจะเริ่มนำมาเป็นวาระแห่งชาติ แต่สวิตเซอร์แลนด์ได้ดำเนินนโยบายวางระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Waste Management) วางระบบการคัดแยก รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกปลูกฝัง หยั่งรากลึกในการดำรงชีวิตของประชากรมากว่า 60 ปี

คุณ Markus Zwyssig นักข่าวท้องถิ่นวัย 52 ปี ซึ่งเป็นสามีของคุณกัลยา ซึ่งเป็นบ้านเพื่อนที่อยู่เมือง Uri เล่าให้ฟังว่า เห็นระบบการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับไปรีไซเคิลมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ขยะทุกชนิดต้องแยกหมด เช่น เศษผัก เศษผลไม้ จะนำไปทำปุ๋ยหมักที่สวนหลังบ้าน ส่วนกระป๋อง ขวดพลาสติกต่าง ๆ แก้ว กระดาษ ถ่านไฟฉาย เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าที่เสีย

แม้กระทั่งเสื้อผ้า รองเท้าเก่าที่ไม่ต้องการ ทุกปีช่วงเดือนเมษายน และตุลาคม รัฐจะแจกถุงพลาสติกขนาดใหญ่ให้ทุกครัวเรือนใส่ แล้ววางไว้หน้าบ้านจะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ของรัฐมาเก็บตามเวลาที่กำหนดไว้

โดยการจัดเก็บขยะของหน่วยงานรัฐมีบริการหลากหลายรูปแบบ เช่น หากรอให้หน่วยงานของรัฐมาเก็บที่หน้าบ้าน จะมีตารางกำหนดวันและเวลา มาแจกให้แต่ละบ้านเป็นรายเดือน และระบุชัดเจนว่า วันไหนจะมาเก็บขยะประเภทใด พรุ่งนี้เก็บกระดาษ อีกวันมาเก็บขยะเปียก เป็นต้น

แต่มีเงื่อนไขว่า ถุงขยะที่นำมาใส่หุ้มด้านนอก ต้องเป็นถุงที่ผลิตขายโดยหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นของเมืองนั้นเท่านั้น โดยแต่ละเขตมีสีแตกต่างกัน เขตบ้านใครต้องใช้ถุงของเขตท้องที่นั้น จะใช้ถุงของเขตอื่นไม่ได้ และห้ามใส่ถุงพลาสติกที่เอกชนทั่วไปผลิตขาย เหมือนถุงดำบ้านเราไม่ได้ ถ้าจะใส่ถุงดำต้องอยู่ด้านใน

ถุงขยะที่ผลิตขายทั้งถุงด้านในของเอกชน และถุงขยะด้านนอกของรัฐจะแบ่งเป็น 3 ขนาด ขนาดเล็ก 17 ลิตร ขนาดกลาง 35 ลิตร และขนาดใหญ่ 50 ลิตร ราคาจะแตกต่างกันไป

โดยปกติครอบครัวส่วนใหญ่ใช้ถุงขนาด 35 ลิตร ใน 1 แพ็กมี 10 ใบ ถุงของเอกชนราคา 2.4 ฟรังก์สวิส แต่ถ้าถุงของรัฐ ราคา 24 ฟรังก์สวิส (เทียบอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 33.8 บาทต่อฟรังก์) หรือตกใบละประมาณ 81.12 บาท

สำหรับถุงพลาสติกที่รัฐตั้งราคาขายถือว่า "สูงมาก" ถือเป็นกลวิธีเพื่อให้ทุกคนได้คัดแยกขยะก่อนทิ้ง หากมีขยะปริมาณมาก ต้องใส่ถุงหลายใบ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของครอบครัว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐแต่ละพื้นที่ จะนำเงินค่าขายถุงขยะไปใช้ในการบริหารจัดการขยะ โดยไม่มีการเก็บเงินค่าขยะเป็นรายปี

หากแต่ละบ้านมีปริมาณขยะมาก และไม่ต้องการรอให้รัฐมาจัดเก็บ รัฐจะมีเอกสารแจ้งรายละเอียดให้ทราบถึงบ้านว่า สามารถนำขยะประเภทใด ไปทิ้งได้บริเวณใด ในจุดที่ใกล้บ้านพัก

รวมถึงทุกห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านจะมีจุดให้ทิ้งขยะรีไซเคิล แยกเป็นประเภทอย่างละเอียด ทั้งด้านนอกและภายในห้างบริเวณก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งทุกครั้งที่ไปซูเปอร์มาร์เก็ต จะได้เห็นทุกคนหิ้วถุงผ้า ตะกร้าที่ใส่ขยะรีไซเคิลแยกประเภทไว้มาทิ้ง เช่น ถ่านไฟฉาย ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว ฯลฯ หลังจากนั้นจะนำถุงผ้าดังกล่าวไปใส่สินค้าที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้า หิ้วกลับบ้าน โดยพยายามไม่ใช้ถุงพลาสติกของห้าง ซึ่งจะต้องเสียเงินซื้อ

การนำขยะไปรีไซเคิล ถือเป็นการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสูญเปล่า แถมยังสามารถแปลงขยะกลับมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งประเทศไทยมีหลายอำเภอ ในบางจังหวัดเริ่มแล้ว ซึ่งไม่น่าจะยากเย็นอะไร หากคนไทยจะเริ่มต้นนับหนึ่งกันจากสองมือของเราเอง ก่อนจะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจกันในชุมชน และส่วนรวม อย่ามัวมองแต่ว่าภาครัฐทำไมไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้อยู่เลย


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : Waste Management สวิสสู่ไทย จิตสำนึกต้องสร้าง

view