จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ทีดีอาร์ไอ แนะวางแผนยับยั้งนโยบายประชานิยม ที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างความเสียหายให้กับประเทศ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตมาอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การพัฒนาดังกล่าวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระดับสูงโดยหากประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในอนาคต
ในขณะที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระดับสูงต่อไป ก็จะมีแรงกดดันให้เกิดการกระจายรายได้ในรูปของการจัดสวัสดิการต่างๆตลอดจนการใช้นโยบายที่เรียกว่านโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการออกกฎหมายที่เหมาะสมในการควบคุมการใช้นโยบายประชานิยมตั้งแต่การเลือกตั้งจนถึงการบริหารประเทศเพื่อป้องกัน ไม่ให้ฐานะการคลังของประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคต
ทางออกของการลดปัญหาประชานิยม ในช่วงของการปฏิรูปคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ควรที่จะมีการวางกลไกทางกฎหมายเพื่อสกัดกั้นนโยบายซึ่งมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว นอกจากนั้นต้องมีการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภา ควบคู่ไปกับการสร้างวินัยทางการคลังจากการสร้างกฎกติกาต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินการใน 4 เรื่อง
ได้แก่ 1.ควรแก้กฎหมายการเลือกตั้ง เพื่อกำหนดให้พรรคการเมือง ต้องแจ้งต้นทุนทางการคลังของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งต่อประชาชน เช่น อย่างน้อย 30 วันก่อนวันลงคะแนน โดยแจ้งแหล่งที่มาของเงินทุนในการดำเนินนโยบายนั้นว่าจะมาจากที่ใด เช่น การขึ้นภาษีใดหรือกู้ยืมอย่างไร เพื่อให้ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงได้ทราบต้นทุนของนโยบาย และสร้างความรับผิดชอบให้แก่พรรคการเมือง ทั้งนี้ เมื่อพรรคการเมืองดังกล่าวได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล จะต้องมีข้อกำหนดห้ามมิให้ใช้เงินทุนในการดำเนินนโยบายนั้นเกินกว่าจำนวนที่แจ้งไว้
2.ควรมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เป็นธรรมนูญการคลัง (fiscal constitution) โดยกำหนดให้การจ่ายเงินแผ่นดินใดๆ ต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อป้องกันการใช้เงินนอกงบประมาณ เพราะการใช้เงินนอกงบประมาณจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ โดยอาจบัญญัติในลักษณะที่คล้ายกับวรรคแรกของมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แต่ควรเพิ่มนิยามของคำว่าเงินแผ่นดินเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และลดปัญหาในการตีความ
3.ควรมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้มีการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดกรอบวินัยทางการคลังในด้านต่างๆ ในรายละเอียดซึ่งรวมถึง หลักเกณฑ์การวางแผนการเงินระยะปานกลาง การบริหารการเงินและทรัพย์สิน กองทุนสาธารณะ การก่อหนี้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินหรือภาระทางการเงินของรัฐ เป็นต้น เช่นเดียวกับ บทบัญญัติในมาตรา 167 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550และเร่งรัดการตรากฎหมายดังกล่าวทันทีเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
และ 4.ควรจัดตั้งสำนักงบประมาณแห่งรัฐสภา (Parliamentary Budget Office: PBO) ขึ้นเป็นหน่วยวิเคราะห์งบประมาณและการคลังของรัฐสภาที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาและประชาชนมีข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังและผลกระทบทางเศรษฐกิจของการใช้เงินแผ่นดินของฝ่ายบริหาร โดยทำหน้าที่วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค ฐานะการคลังภาครัฐโดยรวม ต้นทุนการคลังของมาตรการที่สำคัญ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาตรการที่สำคัญ นอกจากนี้ ในระยะยาว ควรมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยจัดให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และจัดให้มีสวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ด้วย
“การแก้กฎหมายเพื่อสกัดกั้นประชานิยมมีข้อจำกัด เนื่องจากในหลายกรณีนโยบายประชานิยม จะเกิดผลเสียหายในระยะยาว รวมทั้งการตีความ หากต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็เท่ากับว่าศาลต้องใช้ดุลพินิจของตนไปจำกัดสิทธิของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและจำกัดสิทธิของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยจึงต้องหาแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยและได้ความยอมรับจากสังคมด้วย”
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน