จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์
สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มีทีท่าว่าจะรุนแรงหากเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งว่ากันว่ารุนแรงสุดในรอบ 10 ปี พื้นที่ประสบภัยแล้งกว่าค่อนประเทศ หรือประมาณ 50 จังหวัด แต่สำหรับช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน เม.ย. 2558 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ระบุว่า อาจรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั้งประเทศรวมกันเหลือใช้การได้เพียง 47% ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งงดจ่ายน้ำเพื่อการเกษตร ขณะที่การประปานครหลวงก็แจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมสำรองน้ำไว้ให้เพียงพอต่อการใช้ 1 วัน ซึ่งข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า สถานการณ์ภัยแล้งจะต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือน เม.ย. 2558
ใช่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ในอีกหลายภูมิภาคของโลกก็กำลังเผชิญกับภาวะอากาศแปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนินโญ ซึ่งอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้นผิดปกติ ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งช่วงต้นปีหน้าจะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในเอเชีย ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดฝนตกอย่างผิดปกติในอเมริกาใต้
โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ประเมินว่า ปรากฏการณ์เอลนินโญน่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าเกษตร เนื่องจากเกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งหรือปริมาณฝนตกหนักมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะ ปาล์มน้ำมัน โกโก้ กาแฟ และน้ำตาล ซึ่งเป็นพืชเกษตรที่มีความเสี่ยงอย่างมาก
สำหรับประเทศไทย สงกรานต์ อักษร รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกในปีนี้กระจายตัวและไม่ตกลงในเขื่อนใหญ่ ประกอบกับฤดูหนาวไม่มีฝนจะส่งผลให้ปริมาณน้ำน้อย ไม่เพียงพอสำหรับใช้ทั้งเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค และทำให้ภาคอีสานต้องเผชิญกับภัยแล้งไปจนถึงปลายเดือน เม.ย.
"ในปีนี้อากาศจะหนาวเย็นเป็นระลอก เริ่มเข้าหน้าหนาวจริงๆ กลางเดือน ธ.ค. แต่ช่วงฤดูหนาวจะสั้นและอุณหภูมิจะอุ่นกว่าปี 2556 กรุงเทพฯ จะเริ่มรู้สึกถึงหน้าหนาวแบบอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2558 แต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะอากาศเย็นจะมาเป็นระลอก และจะรู้สึกถึงลมหนาวจริงๆ ในช่วงเวลา 03.00-05.00 น. ขณะที่ช่วงกลางวันจะร้อนมาก" รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าว
ด้าน รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนถือว่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เมื่อถึงฤดูแล้งจริงๆ บางพื้นที่อาจถึงขั้นไม่มีน้ำใช้สำหรับการเกษตร
"อีกปัญหาหนึ่งคือน้ำทะเลหนุนสูง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำแม่กลอง บางปะกง ซึ่งจะต้องเร่งซ่อมแซมเขื่อนกั้นริมตลิ่ง เพราะปัญหาน้ำทะเลหนุนอาจจะหนักกว่าปีที่แล้ว รวมถึงหากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อย ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องตลิ่งพังตามมาได้ในหลายพื้นที่" ผู้อำนวยการ สสนก.กล่าว
เมื่อสถานการณ์ส่อเค้าจะเกิดผลกระทบอย่างหนัก การจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ
"ภารกิจสำคัญลำดับแรกคือน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ยังไงก็ต้องมีไว้กินและไล่น้ำเค็มเพื่อรักษาระบบประปาไว้ เพราะหากปล่อยให้น้ำกร่อยเข้าระบบประปาจะเกิดความเสียหายอย่างมาก อีกทั้งน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองน้อย จึงไม่สามารถดึงน้ำมาช่วยไล่น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เหมือนที่ผ่านมา จึงไม่สามารถจัดสรรให้เกษตรกรได้" สุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกถึงความจำเป็นที่ต้องประกาศให้ชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลองต้องงดการทำนาปรัง เพื่อจัดการน้ำที่เหลืออยู่น้อยให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
เมื่อความจำเป็นของการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคคือความสำคัญที่สุด แม้สถานการณ์แล้งส่อถึงวิกฤตเพียงใด แต่การประปานครหลวง (กปน.) ก็ยังให้ความมั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน
ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการ กปน. ยืนยันว่า แหล่งน้ำดิบหลักสำหรับผลิตน้ำประปาน้อยกว่าเมื่อปีที่ผ่านมาถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี แต่คงไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่เรียกว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอต่อการใช้อุปโภค-บริโภคอย่างแน่นอน
ด้านมาตรการบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง โดยเฉพาะการหาแหล่งน้ำ ปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) ระบุว่า เตรียมช่วยเหลือประชาชนโดยการหาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ 31 จังหวัดของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นบ่อบาดาลมาตรฐานขนาด 6 นิ้ว ความลึกประมาณ 100 เมตร ต้นทุนบ่อละ 2.4 แสนบาท ขณะนี้พบว่าเกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มใช้การขุดบ่อน้ำเองเตรียมรับมือกับภัยแล้งแล้ว
"เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบางราย บอกว่า แม้จะมีการห้ามทำนาปรังแต่ก็ยังจะทำ เพราะเตรียมแผนเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดเล็กหรือบ่อน้ำตื้น ต้นทุนประมาณ 7,000-10,000 บาท รายละ 4-5 บ่อ เตรียมไว้เป็นแหล่งน้ำสำรอง"
แม้สถานการณ์ดูเหมือนว่าจะมีความน่าวิตกกังวล แต่การเตรียมพร้อมรับมือก็จะช่วยให้ผ่านพ้นไปได้
กปน.เตือนสำรองน้ำ 1 วัน
ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา กปน.ได้ตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำและคุณภาพน้ำ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำดิบ การหนุนของน้ำทะเล รวมถึงอัตราที่น้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาจริงๆ กปน.เลือกแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการลดกำลังการผลิต และลดการจ่ายน้ำในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำไหลอ่อนลงบ้าง แต่ก็จะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า
“ประเมินว่าช่วงเดือน มี.ค.เม.ย. 2558 มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะจะมีน้ำทะเลหนุน แต่หากสามารถผลักน้ำเค็มได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่เพื่อความรอบคอบอยากให้ประชาชนผู้ใช้น้ำสำรองน้ำไว้อย่างน้อยให้เพียงพอสำหรับ 1 วัน โดยอาจใช้ตุ่มหรือถังน้ำรองเก็บไว้ในห้องน้ำก็ได้”ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าฯ กปน.กล่าว
31 จังหวัดเสี่ยงภัยแล้ง
ภาคเหนือ : เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก
ภาคกลาง : กาญจนบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี
ภาคตะวันออก : ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี ตราด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ หนองคาย ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต