จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “กลุ่มรักษ์บ้านแหง” รวมตัวยื่นฟ้องอธิบดีกรมป่าไม้ ผวจ.ลำปาง รมว.ทรัพยากรฯ ฐานออกใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่า อ้างรายงานประชาคมเท็จ เอื้อกิจการเหมืองแร่ลิกไนต์ ขัดข้อกฎหมาย ฝืนมติชุมชน
วันนี้ (7 พ.ย.) ชาวบ้านแหงเหนือ หมู่ 1 และหมู่ 7 ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ในนามกลุ่มรักษ์บ้านแหงราว 70 คน พร้อมใจกันเดินทางไปที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อยื่นฟ้องกรมป่าไม้ กับพวกรวม 7 ราย ได้แก่ อธิบดีกรมป่าไม้, ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายอำเภองาว, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง, ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 และหมู่ 7 ต.บ้านแหง (ในขณะเกิดเหตุ) โดยมีนางสมหมาย หาญเตชะ กับพวกรวม 442 ราย เป็นโจทก์
กลุ่มชาวบ้านได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้า ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ในเขตคำขอประทานบัตรที่ 5/2553 ถึง 7/2553 จำนวน 3 ฉบับ, เพิกถอนใบอนุญาตแผ้วถางป่า ในเขตคำขอประทานบัตรที่ 5/2553 และ 6/2553 จำนวน 2 ฉบับ
รวมทั้งขอให้เพิกถอนรายงานการประชุม (ประชาคม) ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2553 และรายงานการประชุม อบต.บ้านแหง ฉบับวันที่ 28 กันยายน 2553 ซึ่งนำมาใช้ประกอบการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่ง ชาติฯ ของบริษัทฯ
กลุ่มชาวบ้านผู้ฟ้องคดีเห็นว่ารายงานทั้งสองฉบับ และการออกใบอนุญาตดังกล่าวของหน่วยงานรัฐให้แก่บริษัทเป็นไปโดยไม่ชอบด้วย กฎหมาย
นางสาวแววรินทร์ บัวเงิน หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า กลุ่มรักษ์บ้านแหงได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการขอประทานบัตรเพื่อประกอบ กิจการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด มาตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากเห็นถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อวิถีทำกินของชุมชน
ที่ผ่านมาแม้บริษัทจะยังไม่ได้ประทานบัตรเหมืองแร่ แต่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับออกใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ให้แก่บริษัทฯ อย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากยังไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในพื้นที่
ทั้งยังนำรายงานการประชุมชี้แจงการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของ บริษัทฯ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 มาใช้เป็นรายงานประชาคมเพื่อประกอบการออกหนังสืออนุญาตใช้พื้นที่ป่าและใบ อนุญาตอื่นๆ ให้บริษัทฯ ทั้งที่จริงเป็นการประชุมเพื่อแจ้งข้อมูลให้ทราบเท่านั้น ไม่ใช่การประชุมเพื่อขอความเห็นชอบจากชุมชน และเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการเหมือง ไม่ใช่เพื่ออนุญาตใช้พื้นที่ป่า
ด้าน น.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ข้อ 8(5) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพื้นที่ป่าที่จะอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ว่า จะต้องไม่มีปัญหากับประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ และสะท้อนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่
ขณะที่ข้อเท็จจริง พื้นที่ขอประทานบัตรใน ต.บ้านแหงยังมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ เนื่องจากชาวบ้านยังมีการคัดค้านการทำเหมืองแร่มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นตามหลักกฎหมาย หน่วยงานจึงไม่สามารถออกใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าให้แก่บริษัทฯ ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่ารายงานการประชุมชี้แจงการทำเหมืองแร่ที่ถูกนำมาอ้างใช้เป็นรายงาน ประชุมประชาคมที่ชุมชนให้ความเห็นชอบเพื่อประกอบการออกใบอนุญาตใช้พื้นที่ ป่านั้นก็เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง โดยคดีนี้ผู้ฟ้องขอให้ศาลรับพิจารณาคดีเป็นคดีสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านแหงได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอน รายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด ด้วย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลปกครองเชียงใหม่
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต