จาก โพสต์ทูเดย์
สศก.พยากรณ์ข้าวนาปรังปีเพาะปลูก57/58ปริมาณน้ำน้อยทำข้าวเพาะปลูกหาย6ล้านตัน แต่ไม่กระทบตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณฝนในปีนี้ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม 2557 ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย อีกทั้งยังต้องระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อส่งน้ำเสริมน้ำฝนให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีมากกว่าปกติ จึงส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนปาสักชลสิทธิ์ ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จึงมีความจำเป็นต้องงดส่งน้ำเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำทั้งในฤดูแล้งปี 2557/58 ต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนปี 2558 ในการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและและข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ตั้งแต่ตุลาคม 2557 ถึง เมษายน 2558
“จากสถานการณ์ดังกล่าว สศก.ได้พยากรณ์ผลผลิต (ณ เดือนกันยายน 2557) คาดว่าปีเพาะปลูก 2557/58 ข้าวนาปรังมีเนื้อที่เพาะปลูก รวมทั้งประเทศ 12.567 ล้านไร่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 8.411 ล้าน ในปีนี้คาดว่าพื้นที่ปลูกลดลงจากปีที่แล้ว 6ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต จะลดลงประมาณ 4 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งนี้ ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่669 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างไรก็ตามปริมาณผลผลิตที่หายไปดังกล่าวไม่กระทบต่อตลาดข้าวของไทยทั้งในและต่างประเทศ” นายเลอศักดิ์กล่าว
ด้านสถานการณ์การผลิต พบว่าเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลงทุกภาคจากปีที่แล้ว เนื่องจากภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อยกว่าในปี 2556 โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ซึ่งปริมาณน้ำที่ใช้การได้ ณ ส.ค. 2557 มีเพียง 30% ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลง เนื่องจากเห็นว่าผลตอบแทนไม่คุ้มค่าความเสี่ยง หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ
สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วประสบกับสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนาน กระทบต้นข้าวในช่วงตั้งท้องถึงออกรวง ส่งผลให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต เมล็ดลีบ รวมทั้งเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนการจัดสรรน้ำ ต้นข้าวจึงได้รับ น้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตาม ปี 2558 คาดว่าเกษตรกรจะไม่ปลูกเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดหาให้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้ได้รับน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
หากพิจารณาในแต่ละภาค พบว่า ภาคเหนือ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และราคาข้าวเปลือกไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก โดยเกษตรกรจะปลูกมากในเดือนธ.ค.2557 – ม.ค. 2558 สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น หากไม่ประสบสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนานเหมือนปีที่ผ่านมา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากเกษตรกรต้องงดปลูกข้าวนาปรังจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเกษตรกรจะปลูกมากในเดือน ม.ค. 2558 ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เพราะแหล่งปลูกส่วนใหญ่ได้รับน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
ภาคกลาง เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำใช้การได้ลดลงจากปีที่แล้ว ส่งผลต่อปริมาณน้ำที่จัดสรรให้เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกข้าวนาปรังในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดลง
ภาคใต้ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากแนวโน้มราคาข้าวเปลือกลดลง เกษตรกรบางส่วนจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า สามารถให้ผลผลิตได้หลายปี และเกษตรกรจะปลูกมากในเดือนพ.ค. 2558 สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำที่เพียงพอ
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(21 ต.ค. 57) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,833 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 43% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,033 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,760 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 61 %ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,910 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 749 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 80 %ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 706 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 804 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 84% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 801 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 6,450 ล้านลูกบาศก์เมตร
อนึ่ง ตามที่กรมชลประทาน ได้มีประกาศแจ้งเรื่อง การงดส่งน้ำเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงฤดูแล้งปี 2557/2558 ไปแล้ว นั้น กรมชลประทาน ขอย้ำว่าเป็นการประกาศงดส่งน้ำทำนาปรังทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบไปด้วยพื้นที่ 22 จังหวัด คือ ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยไม่มีพื้นที่ใดได้รับการยกเว้นที่จะส่งน้ำให้ จึงขอรณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมมือกันงดทำนาปรัง เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลผลิตที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้ง ติดตามสถานการณ์น้ำและปฏิบัติตามคำแนะนำของโครงการชลประทานในพื้นที่ของตนเองอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย
สวนรักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต