จากประชาชาติธุรกิจ
บ้านไม้สีขาวใต้ถุนโล่งสูงในพื้นที่สีเขียวที่มีทั้ง สนามหญ้าและต้นจามจุรีที่ปกคลุมพื้นที่ให้ร่มรื่น มีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ทิศ ตั้งอยู่บนถนนวิทยุถูกล้อมด้วยตึกสูง ไม่ใหญ่โตหรูหราแต่ดูงามสง่า ทว่าเป็นความสง่างามแบบคนสูงวัยที่ผ่านชีวิตมานาน บ้านหลังนี้มีอายุอานามถึง 100 ปีแล้ว
นี่คือบ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก่อนที่บ้านหลังนี้จะใช้เป็นบ้านพักเอกอัครราชทูตสหรัฐ มันเคยผ่านการใช้งานมาแล้วอย่างโชกโชน ภายใต้สีขาวสะอาดตาที่มองเห็นภายนอกนั้น นอกจากจะเคลือบทับความเก่าแก่ของเนื้อไม้แล้ว มันยังได้เคลือบทับคราบของประวัติศาสตร์เอาไว้ด้วย
บ้านหลังนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2457 ออกแบบโดย นายโฮเรชีโอ เบลีย์ วิศวกรชาวอังกฤษ เจ้าของราชทินนาม "พระปฏิบัติราชประสงค์" และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Siam Motor Works หลังจากที่เบลีย์เสียชีวิตใน พ.ศ. 2463 บ้านหลังนี้ถูกเช่าใช้เป็นที่ทำการสถานทูตเบลเยียมในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2465
ในปี 2469 รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังเข้ามาซื้อบ้านหลังนี้ ต่อมาเมื่อเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศร้องขอให้บ้านหลังนี้มาอยู่ในการดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นบ้านพักของ นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันคนแรกของกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตเบลเยียมจึงต้องย้ายออกไปในเดือนสิงหาคมปี 2470 หลังจากนั้น บ้านหลังนี้ถูกใช้เป็นบ้านพักที่ปรึกษาชาวอเมริกันของกระทรวงการต่างประเทศคนอื่นต่อ ๆ มา
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดบ้านหลังนี้ นอกจากใช้เป็นบ้านพักทหารแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานบันทึกว่าญี่ปุ่นใช้บ้านหลังนี้ทำอะไร แต่ปัจจุบันยังพบร่องรอยคราบน้ำมันเปื้อนกระเบื้องนอกชาน และรอยไหม้จากเตาถ่านบนพื้นไม้สัก ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองบ้าน
หลังสงครามโลกบ้านหลังนี้ถูกใช้เป็นบ้านพักอย่างเป็นทางการของ นายเอ็ดวิน สแตนตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนแรก และตกทอดส่งต่อมายังเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาคนต่อมาเรื่อยมาจนถึง "คริสตี้ เคนนีย์" เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนปัจจุบันที่พำนักในบ้านหลังนี้มาเกือบ 4 ปี และกำลังจะลาตำแหน่งไปในเดือนหน้านี้แล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ท่านทูตคริสตี้ได้จัดงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 100 ปีของบ้านหลังนี้ และเปิดบ้านพาแขกชมความงามของสถาปัตยกรรมที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ แม้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่เมื่อเทียบกับอายุอานามที่เคยผ่านสงครามมา และหลักฐานจากบันทึกของ นางโจเซฟิน สแตนตัน ภริยาของนายเอ็ดวิน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสำรวจหาบ้านหลังนี้ที่บรรยายสภาพบ้านเมื่อแรกพบว่า
"...เรามองไปสุดทางเดินสายหนึ่งที่ร่มครึ้มด้วยต้นจามจุรี เห็นบ้านเก่าโทรมหลังหนึ่งทาสีน้ำตาลช็อกโกแลต บานเกล็ดห้อยกระเท่เร่ อันที่จริงบ้านทรุดเอียงไปข้างหนึ่ง สวนขนาดใหญ่รอบตัวเรือนเต็มไปด้วยขยะจากสงครามขึ้นสนิม อันได้แก่ ซากรถจี๊ป รถบรรทุก โครงตั้งปืนใหญ่และรถถังที่กองทัพญี่ปุ่นทิ้งไว้ คูน้ำกว้างที่ล้อมรอบบริเวณบ้านก็มีขยะขึ้นสนิมโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แลดูน่าเกลียดมาก" เทียบกับสภาพที่เห็นในตอนนี้ ถือว่าบ้านหลังนี้ได้รับการบำรุงและดูแลมาอย่างดี
สถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้เป็นแบบบ้านเขตร้อนผสมกับแบบยุโรป ตัวบ้านเป็นลักษณะกล่องไม้ หลังคาทรงปั้นหยามีจั่วยื่นออกมาด้านหน้าของตัวบ้าน เพดานโปร่งสูง ใต้ถุนสูงโล่ง ผนังไม้สักผ่านการแกะสลักเป็นตะแกรงแบบบ้านเขตร้อน เป็นบ้านที่ออกแบบมาให้อากาศถ่ายเทได้มากที่สุด ตอนนั้นไม่มีเครื่องปรับอากาศ กว่าจะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศก็ปี พ.ศ. 2516
สภาพที่เห็นปัจจุบันตัวบ้านบนชั้นสอง เมื่อขึ้นบันไดไปจะไปโผล่ที่ส่วนจั่วด้านหน้าที่ยื่นออกมา พื้นที่ส่วนนี้ใช้เป็นโถงของบ้านไม่กั้นแยกส่วน แต่จัดวางเฟอร์นิเจอร์แยกมุมตามใช้งาน โซฟานั่งพักผ่อนถูกวางไว้ด้านหน้าสุด มีเปียโนตัวใหญ่วางอยู่ข้าง ๆ ดูเป็นพื้นที่ผ่อนคลายที่สุดในบ้าน ซึ่งส่วนนี้เป็นมุมที่ท่านทูตคริสตี้บอกว่าชอบมากที่สุดในบ้าน ถัดเข้าไปด้านในใกล้ ๆ กัน วางโซฟาชุดใหญ่ไว้สำหรับใช้ต้อนรับแขก
ปีกด้านซ้ายของบ้านเป็นโต๊ะชุดย่อม ๆ สำหรับประชุมงาน ปีกด้านขวามีห้องทำงานและระเบียงด้านนอกวางโต๊ะทานอาหารเช้า ตรงกลางบ้านก่อนจะถึงห้องชั้นในที่เป็นห้องพักส่วนตัวของท่านทูต มีประตูกั้นเป็นห้องชั้นกลางวางโต๊ะอาหารชุดใหญ่สำหรับจัดอาหารรับรองแขกอย่างเป็นทางการ
ชั้นล่างฝั่งปีกซ้ายกั้นเป็นห้องโล่ง ซึ่งในวันที่จัดงานครบรอบ 100 ปีของบ้านนั้นห้องนี้ถูกใช้เป็นห้องจัดเลี้ยง คาดว่าห้องนี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่ต้น น่าจะเป็นห้องที่มาต่อเติมภายหลัง พื้นที่ชั้นล่างส่วนใหญ่ก็ยังคงเปิดโล่ง ด้านขวาเป็นสระว่ายน้ำขนาดเล็ก บ้านหลังนี้มีเพียง 2 ห้องนอนเท่านั้น เพราะในบริเวณบ้านพักทูตนี้มีเรือนพักรับรองแขกอีกหลังหนึ่งแยกต่างหาก
ทูตคริสตี้พูดถึงความรู้สึก 3 ปีกว่าในบ้านหลังนี้ว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้พักบ้านหลังนี้ เพราะว่าบ้านเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และมีเอกลักษณ์พิเศษ
"มุมที่ชอบมากคือตรงนี้ (โซฟาด้านหน้าสุดของโถง) เวลาวันหยุดจะนั่งดื่มกาแฟ หรือเวลาฝนตกจะสวยมาก ชอบนั่งดูฝนตก หรือตอนเย็นเวลาพระอาทิตย์ตก แสงอาทิตย์จะสะท้อนตรงตึกฝั่งตรงข้ามสวยมาก วันเสาร์-อาทิตย์ดิฉันใช้เวลาอยู่ตรงนี้ 2-3 ชั่วโมง" ทูตเล่าขณะนั่งอยู่ที่โซฟามุมโปรดและพูดถึงการซ่อมแซม
"แต่เราก็เฝ้าดูว่าตรงไหนมีปัญหา มีอะไรชำรุด ต้องแก้ปัญหาอะไรไหม เวลาฝนตกก็ต้องคอยดูว่ามีตรงไหนหลังคารั่ว"
ถามว่ารั่วตรงไหนบ้าง ท่านทูตคริสตี้ชี้ขึ้นไปหลังคาแล้วทำมือวน ๆ บอกว่า "รั่วทั่วทุกมุมของบ้าน แต่รั่วไม่มาก" แล้วยิ้มกว้าง
อาจารย์พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงบ้านหลังนี้ว่า ดูจากสภาพปัจจุบันยังไม่ผ่านการซ่อมใหญ่ น่าจะเป็นเพียงการปรับปรุงบางจุด
จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือ เป็นตัวอย่างบ้านผู้มีฐานะในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เป็นการผสมระหว่างความเป็นฝรั่งกับไทย เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวันและพระราชวังสนามจันทร์ ตัวเรือนคล้ายบังกะโลคือเป็นกล่องลอยยกใต้ถุนสูง หลังคาปั้นหยากันแดดกันฝนได้ดี มีบันไดขึ้นจากด้านหน้า ถ้าเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 จะนิยมลวดลายตกแต่งแบบขนมปังขิง ลวดลายเยอะ ๆ
อาจารย์พีรศรีบอกว่า บ้านหลังนี้โดยตัวมันเองไม่มีจุดด้อยอะไร ฝรั่งได้ปรับตัวเรือนให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้นได้ดีแล้ว แต่มีข้อจำกัดโดยโครงสร้าง ตัวเรือนข้างบนเป็นไม้สัก เมื่อเวลาผ่านไปจึงเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา จะเห็นว่าพื้นข้างบนเริ่มเอียงลาด ผนังบิดเบี้ยวตั้งไม่ตรงบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัสดุกระเบื้องหลังคาสมัยนั้นมันหนัก ถ้าต้องซ่อมสิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือหลังคา เพราะจะช่วยลดน้ำหนักที่กดลงไปได้เยอะ แต่ตามทฤษฎีแล้วเขาคงไม่เปลี่ยน คงรักษาวัสดุดั้งเดิมไว้
มองไปถึงอนาคต บ้านหลังนี้อาจเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6 หลังสุดท้ายที่เหลืออยู่ในประเทศไทยก็เป็นได้
สวนรักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต