จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ชาวบ้านอุตรดิตถ์เลิกรุกป่า หันมาปลูกต๋าว พืชป่าเศรษฐกิจ สร้างงาน-รายได้
วันนี้ (13 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเพาะชำตามโครงการพัฒนาป่าลำน้ำ น่านฝั่งขวา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เจ้าหน้าที่ร่วมกับชาวบ้านตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา ทำการเพาะกล้าต้นต๋าว หรือลูกชิด เพื่อทำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านทั้งตำบลนำไปปลูกตามพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งทำเช่นนี้มานานกว่า 10 ปี ตาม "โครงการปลูกต๋าวคืนถิ่นนางพญา"สนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้ชาวบ้านอนุรักษ์ต๋าวอยู่คู่กับตำบลนางพญา จากพืชป่ากลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ปัจจุบันปลูกต๋าวกระจายทั่งตำบลนางพญากว่า 3 หมื่นต้น กว่า 300 ไร่ ให้ผลผลิตกว่า 5 ตัน สร้างรายได้เสริมหลังทำไร่ ทำนาและชาวบ้านหยุดการบุกรุกป่า ทำไร่เลื่อนลอย
นายประสาน เอียดสังข์ หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา อัน เนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ต้นต๋าว หรือลูกชิด เป็นพืชป่า ประจำถิ่นเคยมีจำนวนมากที่ตำบลนางพญา หลังมีการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ต้นต๋าว ถูกตัดทิ้ง และอาจหมดไปจากป่าในที่สุด ครั้นเมื่อปี 2544 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรที่บ้านห้วยต้า หมู่ 4 ต.นางพญา ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ราษฎรช่วยกันอนุรักษ์ต้นต๋าวให้อยู่คู่กับชุมชนตำบลนางพญาและนำผลผลิตต๋าว สร้างรายได้ให้ประชาชน
ดังนั้นโครงการพัฒนาป่าลำน้ำน่านฝั่งขวาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ท่าปลา เริ่มขยายพันธุ์ต๋าวให้กับชุมชนได้ปลูกตั้งแต่ปี 2544 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน 13 ปี ส่งเสริม ให้ปลูกร่วมกับไม้ผลอื่น ในลักษณะป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างและเป็นธนาคารอาหารชุมชน คือ เป็นแหล่งอาหาร สร้างรายได้ อนุรักษ์พันธุ์ป่าในท้องถิ่น และเป็นพืชเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ต๋าวหรือลูกชิด เป็นพืชตระกูลเดียวกับปาล์ม ที่ผ่านมาพ่อค้าแม่ค้าจะรับซื้อต๋าวจาก สปป.ลาวช่องทางด่านเชียงของจังหวัดเชียงรายประมาณปีละ 100 ตัน เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม แปรรูปเป็นผลไม้กระป๋อง ด้วยต๋าวเป็นพืชป่ามีอายุเพียง 15 ปี ต้นจะล้มและตายเองตามธรรมชาติ จึงเริ่มจากการเพาะพันธุ์กล้าเพื่อขยายพันธุ์ ใช้เวลา 2 ปีถึงนำลงปลูกได้ ต้นต๋าวอายุ 7 ปีให้ผลผลิต ต่อเนื่อง 5 รุ่น แต่เป็นการรอคอยที่คุ้มค่า เนื่องจากต๋าว 1 ทลาย สามารถให้ผลผลิตมากถึง 40 กิโลกรัม เมื่อแปรรูป คือนำมาต้มและหนีบให้ได้ เม็ดต๋าวหรือลูกชิด รับซื้อกิโลกรัมละ 50 บาท คิดเป็นเงิน 2,000 บาท ต้นหนึ่ง 3 ทลาย เกษตรกรจะมีรายได้ถึง 6,000 บาท/ต้นต๋าว 1 รุ่น นับเป็นรายได้เสริมอย่างดี เพราะบางครอบครัวปลูกมากถึง 500 ต้น และเป็นพืชที่ปลูกแซมไม้ผลชนิดอื่นหรือปลูกตามหัวไร่ปลายนา
นายประสาน กล่าวว่า ล่าสุดต้นต๋าวที่ส่งเสริมปลูกกว่า 3 หมื่นต้นกว่า 300 ไร่ เริ่มให้ผลผลิตแล้วประมาณ 5 ตัน และผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการส่งเสริมปลูกปีละ 5,000 ต้น ไม่เพียงทำให้ชาวบ้านตำบลนางพญามีรายได้เท่านั้น ยังสร้างความรักสามัคคีในชุมชน เนื่องจากทุกขั้นตอนชาวบ้านจะช่วยเหลือกัน ที่สำคัญลดการบุกรุกป่า อนุรักษ์พืชป่าให้อยู่คู่ชุมชนแบบยั่งยืน พระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
นายจรูญ ทิมาศิลาเพชร เกษตรกรตำบลนางพญา กล่าวว่า ครอบครัวรับกล้าต๋าวไปปลูกแล้วกว่า 500 ต้น โดยปลูกตามแนวเขตในที่ดินของตนเอง ทั้งนี้ไม่เพียงต้นต๋าวมีประโยชน์ทั้งต้น คือ รากระบบฝอยช่วยเกาะยึดดิน กันดินโคลนถล่ม ใบทำหลังคาคอกสัตว์เลี้ยง ลำต้นใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ทางการเกษตร ผลหรือลูกต๋าว ยังขายสร้างรายได้ หรือนำไปเชื่อมกับน้ำตาลเป็นของหวาน ยอดอ่อนมาทำอาหาร ต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง เป็นอย่างดี
การปลูกต้นต๋าว ยังเป็นแนวเขตที่ดีระหว่างพื้นที่การเกษตรและเขตป่า ชาวบ้านจึงไม่แผ่วถางป่า ทำกินในพื้นที่เพราะมีผลผลิตที่สร้างรายได้ มีตลาดรองรับ และลดการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน วันนี้หากใครสนใจวิถีชีวิตการปลูกต๋าวแบบยั่งยืน มีให้สัมผัสที่ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต