จ้างชาวนาให้ลดพื้นที่ทำนา
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรเกือบค่อนโลก เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชาวนาผู้ปลูกข้าวจำนวนมาก
และเป็นสินค้าที่มีความผันผวนในเรื่องราคาสูง หากข้าวมีราคาตกต่ำก็จะมีผลกระทบต่อชาวนาผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะในประเทศที่ทำเกษตรกรรมโดยการผลิตข้าวเป็นส่วนใหญ่ ก็จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนา อันอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และจะมีผลกระทบทางการเมืองตามมาด้วย ประเทศที่มีการปลูกข้าว จึงต้องผจญกับปัญหาการแก้ไขเรื่องราคาข้าว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลของประเทศที่มีการปลูกข้าว แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่มีการปลูกข้าวมากเพียงสามสี่รัฐ รัฐบาลอเมริกัน ก็ได้ทุ่มเทกำหนดมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวให้ได้ราคาข้าวที่สูง หลักใหญ่คือการให้การอุดหนุน
ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักที่สำคัญประเทศหนึ่ง มีเกษตรการทำนาอยู่จำนวนมาก ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการต่างๆ หลายมาตรการเพื่อปกป้องช่วยเหลือชาวนาอย่างเต็มที่ ทั้งการกีดกันการนำเข้า การให้การอุดหนุนเรื่องราคา รวมทั้งจูงใจให้ชาวนาลดพื้นที่การทำนาโดยกำหนดมาตรการจูงใจ จ่ายเงินชดเชยให้
นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นใน การจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนาในการลดพื้นที่การทำนา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2513 เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ ซึ่งสาเหตุประการหนึ่งมาจากการที่คนญี่ปุ่น ลดการบริโภคข้าวที่เป็นอาหารหลักมาแต่เก่าก่อน มีบางส่วนหันไปบริโภคอาหารแบบตะวันตก ถึงแม้ความต้องการบริโภคข้าวของชาวญี่ปุ่นลดลง และมีผลทำให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่ชาวนาญี่ปุ่นก็ยังไม่เลิกการทำนาหรือลดพื้นที่การทำนา ยังทำนาอย่างเดิม ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาขายข้าวไม่ได้ราคา ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้น จึงได้กำหนดนโยบายให้ชาวนาลดพื้นที่การทำนา โดยจ่ายเงินชดเชยให้ 15,000 เยน ต่อพื้นที่การทำนา 1,000 ตารางเมตร (ประมาณไร่ละ 7,200 บาท) และได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีนโยบายให้ลดพื้นที่การทำนา แต่ที่ผ่านก็มีชาวนาบางส่วนมีความรู้สึกว่าเป็นชาวนาก็ต้องทำนา แต่หันไปปลูกข้าวพันธุ์หนึ่ง ที่ไม่เป็นที่นิยมบริโภคแต่ให้ผลผลิตสูง และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแอลกอฮอล์เพื่อทำน้ำมันเชื้อเพลิงแทน
อย่างไรก็ตามรัฐบาลญี่ปุ่น ชุดปัจจุบัน ที่นำโดยนาย Abe ได้ประกาศแผนการที่จะยุติมาตรการลดพื้นที่การทำนาและการให้เงินอุดหนุนแก่ชาวนา เพื่อรักษาระดับรายได้ของชาวนา ที่ได้ดำเนินการมาหลายสิบปี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเป็นมาตรการที่ปกป้องชาวนามากเกินไป โดยจะยุติในปีงบประมาณ 2561 ทั้งนี้เนื่องจากกระแสกดดันจากความตกลงเขตการค้าเสรี และเสียงที่วิจารณ์ว่าญี่ปุ่นให้ความปกป้องชาวนามากเกินไป
สำหรับประเทศไทยที่มีการทำนามากจนมีผลผลิตข้าวเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ และต้องส่งออกข้าวส่วนเกิน ก็มีปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องแก้ไขทุกปี มาตรการหนึ่งที่มีการคิดที่จะดำเนินการมาหลายสิบปีแล้ว คือการกำหนดเขตพื้นที่เพาะปลูกพืชรวมทั้งเขตพื้นที่การทำนา ให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดและให้เหมาะสมแก่การทำนา ซึ่งจะมีผลเป็นการลดพื้นที่การทำนาไปด้วยในตัว แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จได้ มิหนำซ้ำ นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้วที่กำหนดราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาด และรับจำนำทุกเม็ด กลับเป็นการจูงใจให้มีการขยายพื้นที่ทำนามากขึ้น พื้นที่ที่ไม่เหมาะแก่การทำนา ก็มีชาวนาชั่วคราว หันมาใช้ทำนาด้วย และใช้พันธ์ข้าวคุณภาพไม่ดีในการปลูก ทำให้ผลผลิตข้าวบางส่วนเป็นข้าวด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาต้องแก้ไขในระยะยาว
สินค้าใดหาก มีผลผลิตไม่มากเกินความต้องการของตลาด สินค้านั้นก็จะได้ราคาดีตามกลไกตลาดโดยรัฐบาลไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงหรือดำเนินมาตรการใดๆ เลย ข้าวก็เช่นเดียวกัน หากมีผลผลิตไม่เกินความต้องการของตลาดมากนัก ชาวนาก็จะสามารถขายได้ราคาดีแน่นอน วิธีการที่จะทำให้ผลผลิตมีไม่เกินความต้องการของตลาด หรือแม้จะเกินก็ไม่มากนัก มาตรการที่เป็นไปได้คือการลดพื้นที่เพาะปลูก ลำพังจะให้เกษตรการชาวนาลดพื้นที่เพาะปลูกเองโดยสมัครใจเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องเข้าไปดำเนินการ คือมีมาตรการจูงใจให้ชาวนาลดพื้นที่การเพาะปลูก ด้วยการจ่ายเงินชดเชยหรือสนับสนุนส่งเสริมให้หันไปปลูกพืชอื่นที่เหมาะกับพื้นที่ และเป็นที่ต้องการของตลาดแทน โดยอาจให้เงินอุดหนุนด้วยก็ได้ ซึ่งก็เริ่มมีแนวคิดในการดำเนินการในเรื่องนี้จากนักวิชาการบางท่านและจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องออกมาบ้างแล้ว ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าเป็นการจ้างทำนาให้เลิกทำนา ซึ่งบางท่านมีความเห็นว่ายากที่จะประสบความสำเร็จ
ความจริงเรื่องการลดพื้นที่ทำนาไม่ใช่เป็นการจ้างให้ชาวนาเลิกการทำนา แต่เป็นการจูงใจให้ชาวนาลดพื้นที่การทำนา โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เหมาะแก่การทำนา ให้ชาวนาโดยเฉพาะชาวนาชั่วคราว หันไปใช้พื้นที่ปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมกว่าแทน โดยจูงใจจ่ายเงินชดเชยให้ตามที่เหมาะสม ดังเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2513
สำหรับการจ้างชาวนาให้เลิกการทำนามีกรณีเกิดขึ้นจริง ในประเทศจีน โดยมีข่าวเมื่อปีที่แล้วว่าทางการจีนมีมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนาเหนือกรุงปักกิ่ง ให้เลิกทำนาแล้วให้ไปปลูกข้าวโพดแทน เพราะการทำนาต้องใช้น้ำมากและมีปุ๋ยและยาฆ่าแมลงปนเปื้อนในน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งตั้งอยู่เหนือกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาเพื่อบริโภคสำหรับพลเมืองประมาณ 20 ล้านคน การให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวโพดนอกจากเป็นการลดการใช้น้ำแล้ว ยังเป็นการลดการปนเปื้อนของน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำแห่งนั้นด้วย เนื่องจากการปลูกข้าวโพดใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าว ส่วนปุ๋ยสำหรับข้าวโพดก็ฝังอยู่ในดินไม่ไหลไปตามน้ำ
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต