จากประชาชาติธุรกิจ
รัฐยอมรับเงินช่วยชาวนามีปัญหากลุ่มเช่าที่ เพราะเจ้าของที่ลักไก่ขึ้นทะเบียนรับเงินเอง เร่งหาทางเยียวยา รวมทั้งแก้พวกหัวหมอแยกแปลงย่อยๆ เพื่อได้เงินมากขึ้น ธ.ก.ส.พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เริ่ม 20 ต.ค.นี้ คาดมี 3.49 ล้านครัวเรือนได้ประโยชน์
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ซักซ้อมกับ สาขาของธ.ก.ส.ทั่วประเทศถึงแนวทางจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกครัวเรือน ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.เป็นต้นไป และเตรียมทีมพนักงานสุ่มตรวจสอบการเพาะปลูกข้าวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเงินถึงมือเกษตรกรจริง
เจ้าหน้าที่สาขาจะเร่งชี้แจงให้เกษตรกรทราบขั้นตอนการดำเนินงานเช่น การแจ้งขอขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นผู้ออกใบรับรองให้เกษตรกร จากนั้นจึงไปแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการที่ธ.ก.ส. โดยแนบสำเนาใบรับรองเกษตรกร สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก สำเนาบัตรประชาชน ซึ่งธ.ก.ส.จะตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลในระบบของกรมส่งเสริมการเกษตร
"คาดว่าจะได้รับประโยชน์จำนวน3.49 ล้านครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีประมาณ 63.8 ล้านไร่และวงเงินชดเชยประมาณ 40,000 ล้านบาท นอกจากนี้อยู่ระหว่างลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท"
ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มีชาวนาขึ้นทะเบียนกับกรมแล้วประมาณ 90% ของจำนวนชาวนาทั้งหมดทั่วประเทศ โดยออกใบรับรองพร้อมรับเงินจากธ.ก.ส.แล้วประมาณ 700,000 ครัวเรือน
"สำหรับชาวนาที่เช่าที่ทำนาประมาณ 150,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่น่าสงสารเพราะถูกเจ้าของที่ดินลักไก่ แจ้งสวมสิทธิ์รับเงินเอง โดยเฉพาะเจ้าของที่นาในสุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา แยกเป็นการเช่าแบบมีสัญญา แต่ไม่มีโฉนดที่ดินแสดงสิทธิ์ประมาณ 46,000 ครัวเรือน อีกประมาณ 103,000 ครัวเรือน เป็นการเช่าที่ดินปากเปล่า
"ยืนยันว่าการขึ้นทะเบียนชาวนาจะไม่มั่วข้อมูลอย่างแน่นอน เพราะเป็นการขึ้นทะเบียนเกษตรกรตามปกติ ภายใต้กรอบฐานข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรมีอยู่ในมืออยู่แล้ว ข้อมูลการขึ้นทะเบียนชาวนาล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา มี 2.9 ล้านครัวเรือน กรมออกใบรับรองพร้อมที่จะไปรับเงินจาก ธ.ก.ส.
ที่มา : นสพ.ข่าวสด
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต