จาก โพสต์ทูเดย์
โดย…นรินทร์ ใจหวัง
ถ้าเอ่ยชื่อ เจ้าบัวน้อย อาจจะฟังไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ถ้าบอกว่า ‘คิงคองพาต้า’ แล้วล่ะก็ ทุกคนต้องร้อง อ๋อ!! อย่างแน่นอน เพราะเจ้ากอริลลาในสวนสัตว์บนยอดอาคารของห้างสรรพสินค้าพาต้า ย่านปิ่นเกล้า ตัวนี้เป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยเป็นอย่างดี และเคยเป็นความทรงในวัยเด็กของใครหลายๆ คน
ทว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรื่องราวของบัวน้อย และบรรดาสัตว์ที่ถูกเลี้ยงอยู่บนยอดอาคารแห่งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ และปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อมาเป็นระยะๆ บ้างก็ว่า การดูแลของสวนสัตว์แห่งนี้ไม่ได้มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น บ้างว่ากอริลลาร้องไห้ บ้างว่าที่ทางคับแคบ สัตว์ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน บ้างก็ว่าหากเกิดไฟไหม้หรือแผ่นดินไหวขึ้นมา ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชะตากรรมของสัตว์เหยียบ500ชีวิตพวกนี้
ล่าสุดทางกลุ่มคนรักสัตว์รวมมือกับหลายๆ องค์กรและchange.org ตั้งแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อคนไทยกว่า35,000 ชื่อเพื่อให้กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าเพิกถอน ใบอนุญาตสวนสัตว์พาต้าและตั้งคณะกรรมการหาบ้านใหม่ให้บัวน้อย ซึ่งดูจะช้าไปเสียแล้ว เพราะกรมอุทยานฯ ต่อได้สัญญาให้กับสวนสัตว์แล้วตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้คณะผู้ดำเนินการเรียกร้องต้องเปลี่ยนแผนการเป็นการเจรจากับทางพาต้าแทน
ส่องสวนสัตว์พาต้า
ลิฟท์แก้วนวัตกรรมน่าทึ่งในอดีตพาขึ้นมาถึงชั้น7 ซึ่งเป็นยอดตึกเปิดด้านบนโล่ง และเป็นชั้นที่อยู่ของบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงนางเอกของที่นี่ "บัวน้อย" ซึ่งอยู่สวนกลางของลานจัดแสดง ลิงตัวเขื่อง ขนดำขลับนั่งอยู่ในกรงซึ่งล้อมด้วยกระจกอีกทีเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่ตลอด ภายในกรงมีชิงช้า เครื่องห้อยโหนและห้องนอนส่วนตัว แสงอาทิตย์บางๆ รอดเข้าตรงกลางโดม ทอดตัวถึงพื้นปูนสีเหลืองหม่นบ่งบอกอายุการใช้งาน ทว่าความสะอาดดูเรียบร้อยกว่าเพื่อนสัตว์ ที่อยู่รายรอบกรงของบัวน้อย ซึ่งใกล้กันเป็นที่อยู่ของบรรดาลิง ทั้งชิมแปนซี และอุรังอุตังแม่ลูกที่มีนิสัยขี้เล่นและคุ้นเคยกับคนเป็นอย่างดี โดยบางส่วนของกรงมือของคนสามารถเอื้อมถึงไปจับมือกับเพื่อนสายพันธุ์ใกล้เคียงมนุษย์เหล่านี้ได้
ถัดออกไปล็อกเดียวก็จะได้พบกับห้องปรับอุณหภูมิ ซึ่งมีเพนกวินฮัมโบลต์ สายพันธุ์เดียวที่สามารถพบได้ในพื้นที่แห้งแล้งอย่างทะเลทราย สามารถพบได้แทบอเมริกากลางเช่นประเทศเปรู ชิลี นอนอยู่โดดเดี่ยวบนพื้นทรายเล็กๆ ที่มีบ่อน้ำสีฟ้าอยู่ตรงหน้า ซึ่งเจ้าเพนกวินตัวนี้ก็มีอายุไม่ต่ำกว่า20 ปี เพื่อนๆร่วมฝูงพากัน ล้มหายตายจากไปจนหมด ซึ่งนโยบายของสวนสัตว์คือต้องการเลี้ยงมันตัวเดียวไปจนกว่า จะหมดอายุไข จึงจะนำฝูงใหม่เข้ามาแทน พร้อมกับถือโอกาสปรับปรุงกรงให้ดีขึ้น
ถัดมาบริเวณลานโล่งตรงกลางซึ่งจะเป็นที่อยู่ของบรรดานกสวยงามที่เกาะอยู่ตามขอนไม้ ไร้ซึ่งพันธนาการ แต่ยังคงมีบางสวนบางสายพันธุ์ที่ต้องอยู่ในกรง ส่วนที่เสริมมาใหม่จะเป็นคอกแกะที่ซึ่งมีบริการขายหญ้าเพื่อให้ป้อน และสัตว์จำพวกลิงหายากตัวเล็กๆ รายล้อมโดยทั่ว
จุดที่น่าสนใจอีกที่คือบริเวณกรงเสือดาว2 ตัวและเสือดำ1ตัว ซึ่งอยู่ในกรงขนาดกลางๆ ท่าทีของสัตว์เหล่านี้ไม่ได้เซื่องซึมแต่อย่างใด เช่นเดียวกับหมีหมาและหมีควายที่เล่นสนุกอยู่กับคู่ของมันในกรงหินเล็กๆ อย่างเคยชิน เหมือนความเป็นอยู่ของสัตว์หายากอีกหลายชนิดที่เรียงรายอยู่ข้างๆ กัน เช่นแมวลายเมฆ เม่น ชะมด หมีขอ ที่มักถูกเลี้ยงในเป็นคู่ๆ ในสัตว์บางชนิดพบกลิ่นฉุนเฉพาะตัว และกลิ่นมูลอยู่บ้างเล็กน้อยเหมือนกับสวนสัตว์ทั่วๆไป
และในส่วนของชั้น6 ซึ่งเป็นชั้นที่ปรับอากาศทั้งหมด เป็นที่อยู่ของสัตว์เลื้อยคลานจำนวนมาก ที่จัดแสดงอยู่ในใครตู้มัน เล็กบางใหญ่บ้างตามขนาดของสัตว์ แต่บางตู้โชว์กลับเป็นตู้ว่าง และอากาศไม่ได้ถ่ายเทดีเหมือนกับด้านบน โดยรวมหากไม่ตั้งอยู่ในความอคติต่อภาพลักษณ์ก่อนหน้านี้ พบว่าสวนสัตว์แห่งนี้ดูแลสัตว์เลี้ยงได้แข็งแรงสมบูรณ์ดี หากจะหาเหตุสักข้อว่าอะไรคือความผิดพลาดของสวนสัตว์นี้ อาจจะเป็นเหตุผลเดียวคือ ทำไมสวนสัตว์ต้องอยู่บนตึก ซึ่งถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ชะตากรรมของสัตว์เหล่านี้จะเป็นอย่างไร
มองในมุมผู้บริหารสวนสัตว์
คณิต เสริมศิริมงคล ผู้อำนวยการสวนสัตว์พาต้าเชื่อว่า ทางสวนสัตว์ได้ดูแลสัตว์ทุกตัวอย่างดี วัดผลได้จากสัตว์หลายๆ ชนิดที่มีลูกและจำนวนสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งเชิญชวนให้คนไทยเข้ามาพิสูจน์ความจริงที่พาต้าอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าสัตว์ที่นี่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจริงหรือไม่
“ธุรกิจสวนสัตว์มันไม่ใช่ธุรกิจเอากำไร แต่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ต้องเข้าก่อนว่าไม่ใช่ว่าเราเลี้ยงไม่ดี หรือพื้นที่คับแคบนะครับ เราเลี้ยงสัตว์อย่างดีนะครับ แต่ที่กรมอุทยานพูดถึงคือบนดาดฟ้า ตรงที่เราเพาะเลี้ยง(พูดพลางชี้มือขึ้นไปบนหลังคาชั้น7) ซึ่งเราเพาะได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่เห็นว่ามันเยอะแล้ว อย่าเอาไปไว้ข้างบนเลย ให้เอาไปไว้ที่พักสัตว์ของเรา ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีเถอะ เราก็ รีบย้ายไปแล้ว ที่พักสัตว์ก็ได้ไปตามมาตรฐานคือต้องมี เพื่อเก็บสัตว์ที่ต้องการการเลี้ยงดูเป็นพิเศษ เช่น อายุมาก ป่วย ผสมพันธุ์ ส่วนเรื่องว่าเราเลี้ยงสัตว์ไม่ดี คือถ้าไม่ดีเนี่ย สัตว์จะให้ลูกได้อย่างไร สัตว์ป่ามีลูกไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราก็มองว่า เรายังเพาะขยายพันธุ์ได้ วิธีที่พิสูจน์ว่าที่ไหน เลี้ยงดีไม่ดี ก็ดูที่เขาเพาะพันธุ์ได้มั้ย พาต้า เพาะอุรังอุตังได้ สวนสัตว์บนดินบางแห่งยังเลี้ยงไม่ได้เลย อยู่ที่การจัดการแล้ว ไม่ใช่สถานที่”
ขณะที่ประเด็นบัวน้อย ซึ่งมีคนให้ความสนใจมมากที่สุดและต้องการหาบ้านใหม่ให้บัวน้อยที่อยู่บนยอดตึกแห่งนี้มาเกือบ30 ปี ในมุมของผู้บริหารสวนสัตว์มองว่าพาต้าถือเป็นสวนสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงดูกอริลลาในภูมิภาคนี้ซึ่งมีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อลิงชนิดนี้ แต่สวนสัตว์ที่นี่สามารถเลี้ยงดูลิงตัวนี้ได้เป็นเวลายาวนานขนาดนี้ถือเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จ
“ที่เขาพูดกันว่ากอริลล่าร้องไห้ เป็นประเด็นที่พูดกัน เพื่อหาแนวรวม ทั้งๆ ที่เขาก็รู้ว่า กอลิลาร้องไห้ไม่ได้ ทำไมไม่อธิบายกับคนที่ร่วมลงชื่อเข้าใจ จะถอนใบอนุญาตสวนสัตว์ผมต้องถามว่าเราผิดอะไร ผมยังไม่รู้เลยผมผิดอะไร เปิดมาตั้ง30ปี สถานที่กว้างขว้าง หน่วยงานรัฐให้ผมต่อเติมตรงนั้นตรงนี้ ต้องเท่านั้นเมตร เท่านี้เมตร ผมก็ทำทุกอย่าง ถ้าบอกว่าเรื่องกอริลล่าร้องไห้ เลยผิด ก็มันไม่ร้องอ่ะ หรือผมเลี้ยงได้ไม่ดี อดอยาก หรือผอมก็ว่าไปอย่าง สัตว์ก็ออกลูกเยอะแยะ เลี้ยงให้ทางการ ผมผิดหรอ ช่วยอนุรักษ์ก็ไม่เอา
สิงคโปร์เขาเป็นประเทศที่เยี่ยมมากเลย ระบบการจัดการ เรื่องความสะอาด แต่ยังเลี้ยงแล้วตาย เพราะว่า ดินในแทบอาเซียนเนี้ย มันมีเชื้อโรคกับลิงชนิดนี้ เป็นอันตรายต่อกอลิลาได้ง่ายมาก ที่ถามว่าทำไมไม่ย้ายลงไปที่ดิน คือถ้ามันอยู่ข้างล่างมันคงแล้วตาย เวลาขับถ่ายแล้วลงในดิน สะสมแล้วก็กลับมาเข้าสู้ร่างกาย มันไม่ใช่ว่าจะได้อพยพไปเรื่อย แต่มันอยู่ที่สวนสัตว์ เชื้อโรคเหมาะแก่การทำอันตรายต่อสัตว์ชนิดนี้ ”
ทำความเข้าใจกลุ่มคนเคลื่อนไหว หาบ้านใหม่ให้บัวน้อยและเพื่อน
เป้าประสงค์ที่แท้จริงของกลุ่มผู้เคลื่อนไหว มิใช่การต่อต้านสวนสัตว์แห่งนี้แต่อย่างใด แต่คือการทำอย่างไรให้สวนสัตว์พาต้าแห่งนี้ย้ายลงสู่ภาคพื้นดิน ซึ่ง ศิลจิรา อภัยทาน ตัวแทนกลุ่มคนรักสัตว์ มองว่าเป็นเรื่องที่ผิดตั้งแต่ต้นที่มีการนำสัตว์ตามธรรมชาติเข้ามาเลี้ยงในกรงขัง ซึ่งมีให้เห็นกันทั่วไป แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วก็ตาม ดังนั้นโจทย์คือทำอย่างไรให้สัตว์ในสวนสัตว์อยู่ได้โดยคล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด
“เราไม่ได้ต่อต้านส่วนสัตว์พาต้า แต่แค่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่สัตว์จะต้องไปอยู่บนยอดตึก คือมันไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง มันผิดที่ผิดทาง จริงๆ มันควรอยู่ที่พื้นโลก ไม่ควรอยู่บนยอดตึก ไม่ต้องคิดถึงไฟไฟไหม้ หรือแผ่นดินไหวเลย ทางผู้บริหารสวนสัตว์ควรต้องดูงานที่ต่างประเทศว่าสวนสัตว์ลอยฟ้าแบบนี้เขาปิดกันไปหมดแล้ว ตามประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกาก็ปิดไปเยอะมากแล้ว อังกฤษก็ปิดไปแล้ว
กรณีที่เขารักสัตว์จริง ก็ต้องชื่นชมเขาอย่างมากที่ยังดูแลสัตว์ได้อย่างดี อย่างที่เขาบอกคือกอริลลาที่อายุยืนได้ขนาดนี้ก็ได้รับการดูแลที่ดีเยี่ยม ดังนั้นเรื่องสภาพร่างกาย เราไม่มีอะไรกังขาเลย เราต้องขอบคุณด้วยซ้ำ เรื่องที่เขาดูแลมรดกโลกชิ้นนี้อย่างดี แต่ประเด็นคือทำไมมันต้องอยู่บนยอดตึก มันไม่เหมาะเลย”
อีก5 ปีลุ้นย้ายจากยอดตึกลงสู่พื้นดิน
อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะไม่มีข่าวดีในเรื่องนี้เลย สำหรับคนที่คอยลุ้นอยู่ว่าบัวน้อยและเพื่อนสัตว์จะต้องอยู่บนยอดตึกไปจนวันสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ ก็พอจะมีหวังเพราะว่า เพราะทางผู้บริหารพาต้าเชื่อว่าไม่เกิน5 ปี ก็จะพยายามนำสวนสัตว์พาต้าลงจากยอดตึกลงสู่พื้นดินอย่างแน่นอน
“ในอนาคตเราจะพัฒนาเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องขยับขยาย อย่างไรผมเชื่อว่า ต้องมีโอกาสลงไปแน่นอน ภายในประมาณ 5 ปี นี่แหละ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ เศรษฐกิจ ไม่ใช่เศรษฐกิจไม่ดีแล้ว ไปเปิดสวนสัตว์ ลงทุนไม่ใช่น้อยๆ เพราะมันเป็นธุรกิจเพื่อสังคมนะครับ จะเปิดทั้งที่ก็ต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ ดูไปเรื่อยๆ ที่เหมาะมั้ย ไม่ใช่ปิดตายอยู่ที่นี่ตลอดไป มีโอกาสขยาย มีผลออกลูกมาเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ศิลจิรา และแนวรวมกำลังพยายามเดินหน้าต่อไปคือ การเข้าพูดคุยกับเจ้าผู้บริหารสวนสัตว์พาต้า เพื่อนำสัตว์ทั้งหมดที่อยู่บนยอดตึกลงสู่พื้นดินให้เร็วที่สุด ซึ่งสัตว์ทั้งหมดยังคงเป็นกรรมสิทธ์ของเจ้าของเดิมอยู่
“ที่บอกไว้ 5 ปี10 ปี ก็ยังไม่เป็นรูปร่างถ้ายังไม่ได้รับความร่วมมือจากเอ็นจีโอทุกฝ่าย ที่เห็นจะเห็นความสำคัญของกอริลล่าของไทยตัวเดียวตัวนี้ แพนด้าเราทำไมเราลงทุนได้เป็นร้อยเป็นพันล้านได้ กอริลล่าตัวนี้ มันทำไม่ได้ มันน่าน้อยใจแทนบัวน้อยนะ
อย่างไรเราขอย้ำเป้าประสงค์ขอเราคือเราต้องการขอคือ เอาสัตว์ลงมาดูแลข้างล่างได้หรือไม่ โดยที่กรรมสิทธิ์ คงเป็นของพาต้าอยู่ แต่มีจำนวนเงินกว่า50 ล้านที่ที่เราต้องจัดเตรียมที่อยู่ก่อนนำสัตว์ลงมา ยังไม่ได้หาเจ้าภาพจริงจัง แต่เชื่อว่าอย่างไรคนไทยก็ต้องช่วยเหลือจำนวนเงินเหล่านี้แน่นอน คนละ10บาทก็ยังดีก็เป็นต้นทุนที่สามารถเอาไปต่อยอดและมีความไปได้มาก แต่อย่างที่บอกโครงการไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะต้องใช้เงินเยอะมาก พร้อมกับค่าตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านกอริลลา ที่มีความรู้ในการเคลื่อนย้ายก็สูงมาก แต่เราก็พอมองเห็นหนทางพร้อมกับคนที่จำเข้ามาเป็นคณะทำงานแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปร่าง เพราะเรายังไม่ได้ไปคุยกับ พาต้าว่าเขายินดีปล่อยวางหรือยัง พร้อมกับความภาคภูมิใจ ใน 30 ปีของตำนานแล้วหรือไม่ เราอยากให้เค้าปิดตำนานด้วยความสง่างาม ตระหนักเห็นว่าเสียงประชาชนมันมากจริงๆ ในเรื่องของการผิดที่ผิดทาง โดยให้เขาตัดสินใจซะเอง โดยที่ ไม่ต้องให้ใครกดดัน มันจะดูดีกว่าหรือไม่”
ต่อจากนี้บัวน้อยและเพื่อนสัตว์ดูจะไม่ใช่เรื่องของพาต้าและกลุ่มอนุรักษ์สัตว์อีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ในการช่วยกันอย่างไรให้กอริลลาตัวเดียวของไทยตัวนี้ยังอยู่ได้ และลงสู่พื้นดินอย่างเรียบร้อยปลอดภัย
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต