จากประชาชาติธุรกิจ
ท่าเทียบเรือเป็นหนึ่งใน สาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ในระดับชุมชนหรือระดับท้องถิ่น เช่น ท่าเทียบเรือโดยสาร ท่าเทียบเรือประมง
ท่าเทียบเรือที่มีความสำคัญในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค ในด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เช่น ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นต้น
จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และความต้องการในการเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ของประชาคมอาเซียน ภาครัฐ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางน้ำ โดยมี แผนการก่อสร้างท่าเทียบเรือในหลายบริเวณ อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือชุมพร โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ฯลฯ เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว
การพัฒนาท่าเทียบเรือต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้การก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือที่มีขนาดโครงการเข้าข่าย 3 เรื่องต่อไปนี้ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ "อีไอเอ (EIA)" ตามกฎหมาย
ภาพจาก : http://www.marinerthai.net
คือ 1.ท่าเทียบเรือที่รับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส หรือความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 100 เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป, 2.ท่าเรือสำราญกีฬา ที่รองรับเรือได้ตั้งแต่ 50 ลำ 3.ท่าเทียบเรือมีการถมที่ดินในทะเลที่พื้นที่ต่ำกว่า 300 ไร่ และกำหนดให้มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ "อีเอชไอเอ (EHIA)"
สำหรับโครงการท่าเรือที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง มีลักษณะสำคัญ คือ 1.มีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป ยกเว้นท่าเรือที่ชาวบ้านใช้สอยในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยว 2.มีการขุดลอกร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ตร.ม.ขึ้นไป 3.มีการขนถ่ายวัตถุอันตรายหรือกากของเสียอันตราย ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 25,000 ตันต่อเดือนขึ้นไป หรือมี 250,000 ตันต่อปีขึ้นไป
เพื่อหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างและการเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้
ที่ตั้ง บริเวณชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญต่อสัตว์ทะเลและต่อชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง อาทิ ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง ดังนั้น ในการเลือกพื้นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีระบบนิเวศดังกล่าว
ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ต้องดำเนินการโดยก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด นอกจากนี้ บริเวณที่จะก่อสร้างท่าเทียบเรือควรมีความลึกที่เหมาะสมต่อการเข้ามาเทียบท่าของเรือตามขนาดและประเภทที่กำหนดไว้ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการขุดลอก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง
การออกแบบท่าเทียบเรือ เป็นโครงสร้างที่ยื่นลงไปในทะเล ซึ่งอาจกีดขวางการเคลื่อนที่ของตะกอน เกิดการสะสมของตะกอนบริเวณด้านหน้าของท่าเทียบเรือ ขณะเดียวกัน ทางด้านหลังจะเกิดเป็นอ่าว เนื่องจากตะกอนที่เคยถูกพัดพามาในบริเวณดังกล่าวถูกดักโดยโครงสร้างของท่าเทียบเรือ บริเวณที่เกิดเป็นอ่าวนี้มีโอกาสสูงมากที่จะได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง
เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งที่อาจเกิดขึ้นจึงควรใช้องค์ความรู้ทางสมุทรศาสตร์ในการออกแบบท่าเทียบเรือด้วย โดยท่าเทียบเรือต้องมีโครงสร้างที่มีลักษณะโปร่ง ไม่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการไหลของกระแสน้ำ และไม่ก่อให้เกิดการสะสมของตะกอน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อพยากรณ์แนวชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ จากสิ่งปลูกสร้างในทะเลหรือแบบจำลองที่ใช้ในการคำนวณการเปลี่ยนแปลงของกระแส น้ำหรือการฟุ้งกระจายของตะกอนและโลหะหนัก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยออกแบบให้ท่าเทียบเรือส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยน แปลงทางสมุทรศาสตร์น้อยที่สุด
การจัดการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือนั้นย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือและพื้นที่บริการบริเวณชายฝั่ง การขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมถึงปริมาณจราจรทางน้ำที่เพิ่มขึ้นภายหลังเมื่อมีการเปิดใช้ท่าเทียบเรือ
เครื่องมือสำคัญที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้ท่าเทียบเรือดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายงานนี้จะรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางสังคมเป็นปัจจุบันและเชื่อถือได้ โดยครอบคลุมประเด็นด้านทรัพยากรกายภาพ เช่น คุณภาพอากาศ ลักษณะทางสมุทรศาสตร์ ทรัพยากรชีวภาพ เช่น ระบบนิเวศทางทะเล สัตว์ทะเลหายาก และคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์และคุณภาพชีวิต เช่น การทำการประมง การท่องเที่ยว สภาพเศรษฐกิจสังคมของชุมชนท้องถิ่น มาใช้สำหรับการคาดการณ์และพยากรณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในระยะก่อสร้าง และระยะที่เปิดดำเนินงานและจัดเตรียมมาตรการเพื่อป้องกัน แก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงมาตรการในการติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในแต่ละด้าน
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมคือ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของโครงการ ได้แก่ ลักษณะโครงการ การศึกษาผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ให้ประชาชน ชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ตลอดจนผู้ได้รับผลประโยชน์และได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมได้รับทราบและเข้าใจตรงกัน รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบในการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการในการติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม เพื่อให้ครบถ้วนในทุกด้านและยอมรับของทุกฝ่าย
นอกจากนี้ อาจเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาในรูปแบบของนักวิจัยชุมชน หรือให้ชุมชนมีบทบาทในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของท่าเทียบเรือ ในกรณีที่ท่าเทียบเรือสามารถเปิดดำเนินการได้
นอกจากการดำเนิน มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการในการติดตามตรวจสอบการ เปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมที่เจ้าของโครงการต้องปฏิบัติอย่าง เคร่งครัดแล้วยังมีมาตรการด้านความปลอดภัยของการเดินเรือและมาตรการรักษา ความปลอดภัยตามที่กำหนดโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้ กับผู้เดินเรือและลดผลกระทบในด้านความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงานของท่าเทียบเรือ มาตรการเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและ ด้านสังคม
กล่าวโดยสรุปหากมีการเลือกสถานที่ตั้งที่เหมาะสม มีการออกแบบด้านวิศวกรรมเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม มีแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครบถ้วนและสามารถปฏิบัติได้จริง มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของโครงการ และเจ้าของโครงการมีการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างจริงจัง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ท่าเทียบเรือดังกล่าวจะเป็นท่าเทียบเรือที่เป็น "มิตร" กับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต