สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฤทธิ์เอลนีโญ ไทยส่อเจอแล้งหนัก2-4ปี

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นรินทร์ ใจหวัง

หลังสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี2554 เป็นต้นมา ทุกครั้งที่เห็นน้ำท่วมทางภาคเหนือของประเทศ คนกรุงมักตั้งคำถามในใจว่า “ปีนี้น้ำจะท่วมกรุงเทพฯหรือไม่”

ทว่าในความเป็นจริงน้ำท่วมใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก และมักกินเวลาหลายสิบปีที่จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แต่ด้วยสภาพพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง อันอุดมสมบูรณ์ และภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนทำให้ช่วงฤดูฝน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคมของทุกๆ ปีมีน้ำท่วมในทีราบลุ่มภาคกลางเป็นประจำ

เช่นเดียวกับในปีนี้ถึงแม้จะมีภาพข่าวน้ำท่วมทางภาคเหนือ แต่ในความเป็นจริง ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่กลับมีอยู่น้อย และส่งผลให้หลังจากนี้ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมือภัยแล้งหนัก

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า สิ่งที่ต้องกลัวในปีนี้คือสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจกินเวลานานหลายปีมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักอย่างเขื่อนภูมิพล จ.ตากและเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่มีน้ำอยู่ในอ่างตอนนี้เฉลี่ยเพียง40-50% เท่านั้น และคาดว่าฝนจะหยุดตกในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป

"สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม- สิงหาคมที่ผ่านมามีจำนวนฝนที่น้อยว่าทุกปี ซึ่งน้ำท่วมที่ภาคเหนือเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อ 2-3  สัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง"รศ.ดร.เสรีกล่าว

ไทยต้องเผชิญเอลนีโญไปอีก2-4ปี

รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ขณะที่ไทยอยู่ในอิทธิพลเอลนีโญ ที่แห้งแล้งเพราะ ลมสินค้า (ลมซึ่งพัดออกจากบริเวณความกดอากาศสูงกึ่งโซนร้อนไปยังบริเวณความกดอากาศต่ำที่เส้นศูนย์สูตร ในซีกโลกเหนือจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้จะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้) ที่อ่อนตัวลงส่งผลให้ด้านฝั่งอเมริกาได้ฝนดีจนน้ำอาจจะท่วมได้  แต่ทางภูมิภาคฝั่งไทยกลับไม่ค่อยมีฝน ซึ่งไทยจะต้องอยู่กับสถานการณ์แล้งแบบนี้ไปอีก2-4ปี ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเอลนีโญลากสั้นหรือยาว ดังนั้นชาวนาภาคกลางที่ปลูกข้าวนาปรังจึงต้องระวังผลผลิตที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

"เรามาดูน้ำแค่2 เขื่อนที่มีผลกับภาคกลางคือภูมิพลและสิริกิติ์ ฝนที่ตกมาตอนนี้ มันเพียงทำให้ข้าวนาปีกระชุ่มกระชวยขึ้นเท่านั้น จริงๆ แล้วเราต้องการน้ำกว่า 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อข้าวนาปรังกว่า 4-5 ล้านไร่ แทบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ตอนนี้ สองเดือนที่ผ่านมาน้ำเพิ่มเป็น 3 พันล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง"ดร.กล่าว

ส่วนการคาดการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น เพื่อความแม่นยำจะคำนวนไว้เพียง2ปี ดังนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเอลนีโญจะอยู่แค่ปีหน้าหรือนานกว่านั้นจนถึง4ปี ซึ่งหมายถึงความแห้งแล้งที่ยาวนานนั่นเอง

ยิ่งเเล้งนาน ก็ยิ่งท่วมหนัก

รศ.ดร.เสรีระบุว่า ตามวัฏจักรของน้ำจะเกิดน้ำท่วมหนักหากเกิดการเเห้งเเล้งที่ยาวนาน คือเมื่อเอลนีโญไป ลานีญาก็พาฝนกลับมา ดังนั้นเรามีเวลาเตรียมตัวตั้งรับน้ำท่วมอย่างเร็วคือ 2 ปี อย่างช้าคือ 4 ปี เท่านั้น

"ถ้าลากสั้นเกิดเอลนีโญปีนี้ กับปีหน้าจะทำให้ปีหน้าน้ำไม่ค่อยดี ตอนนี้พูดได้เลยว่า 2558 นี่จะแล้งแน่นอน ถ้าเกิดเป็นเอลนีโญลากสั้นปีหน้าแล้งจัด พอถึงปี 2559 น้ำจะท่วมใหญ่เลย

แต่ถ้าลากยาว 2-5 ปีไม่มีใครรู้ สมมุติว่าปี 2558,2559 เอลนีโญอยู่ ที่นี่แหละ หลังปี 2560 น้ำก็จะท่วมหนัก ยกตัวอย่างที่ผ่านเช่น 2537 แล้ง พอปี 2538 กลายเป็นลานีญา น้ำก็ท่วมใหญ่เลย เราต้องดูอดีตเอามาประกอบ ฉะนั้นโอกาสน้ำท่วมคือตั้งแต่ปี 2559 -2561 ไม่รู้ว่าปีไหน น้ำท่วมใหญ่แน่ เท่ากับอย่างเร็วสุด  2 ปี ช้าสุด 4ปี เราจะทำอย่างไรได้บ้าง"รศ.ดร.เสรีสรุป

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ที่ระบุว่า ความเชื่อผิดๆ ว่าน้ำจะท่วมมาถึงกรุงเทพฯ ทำให้ต่างฝ่ายต่างพยายามเร่งระบายน้ำทิ้งจนหมด  สิ่งที่ตามมาคือความแห้งแล้งที่ยาวนานมากกว่าปีอื่นนั่นเอง

"เราต้องดูก่อนว่า แม่น้ำทางภาคเหนือตอนนี้เป็นอย่างไร แม่น้ำปิง วัง น่านเป็นปกติ เหลือแม่น้ำยมที่ยังท่วมอยู่ แต่ก็ไม่มาก เป็นอันว่า 3ใน4 เป็นปกติ ต่อมาเราดูที่นครสวรรค์ ที่สะพานเดชาติวงศ์  เป็นสะพานที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา  ก่อนเข้าสู่ใจกลางเมืองจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพบว่าน้ำไหลอยู่ที่1380 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ขีดความสามารถของมันอยู่ที่ 3,500-3,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามันเป็นแค่เพียงครึ่งเดียว ซึ่งถือว่าเป็นปกติหมด พอเราย้ายมาดูน้ำที่อยุธยาซึ่งมันก็อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ"ดร.รอยลกล่าว

ดร.รอยล ยังระบุว่าสภาพอากาศของประเทศเดือนกันยายนในปีนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับ เมื่อปี2539 คือฝนตกหนักในเดือนกันยายนที่เป็นปลายฤดูฝน ซึ่งเมื่อถึงเตือนตุลาคมฝนจะน้อยลงทันที แต่น้ำในเขื่อนใหญ่ๆ ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย  ความลำบากคือจะทำให้น้ำที่มีอยู่ตอนนี้ เข้าไปอยู่ในเขื่อน  สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือ ต้องเก็บน้ำไว้ในพื้นที่เกษตร ทุ่งคลอง ให้มากที่สุด

"ผมอยากให้คนไทย ศึกษาข้อมูลด้วยตนเองด้วย ดีกว่าที่จะให้ใครมาตัดสินใจให้ว่าจะท่วมหรือไม่ สื่อก็มีบทบาทมากครับที่จะช่วยเปลี่ยน ผู้อ่านโดยการนำเสนอข้อมูลที่เป็นขั้นเป็นตอน วิเคราะห์ในเบื้องต้นเเล้วคอยสรุป"ดร.รอยลกล่าว

สังเกตปริมาณน้ำเพื่อประเมินน้ำท่วมกรุง

รศ.ดร.เสรีระบุว่ามวลน้ำที่มีผลกระทบต่อกรุงเทพฯมากสุด ต้องกลับไปดูจำนวนน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเป็นตัวหลัก(ตามกราฟ) โดยแบ่งสถานการณ์เป็นน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมปกติ ดังนี้

ยกตัวอย่างปีเกิดน้ำท่วมใหญ่เช่น ปี พศ.2538, 2553 ,2545 ,2554 น้ำที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต้องมีถึง 2,000-3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

กลุ่มที่ 2 คือน้ำท่วมปกติเช่นปีพศ. 2551, 2552, 2555,2556 และปีนี้ที่เพิ่งวัดเพิ่งมีน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพียง1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น น้ำท่วมปกติ 2-5 ปี จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง โดยเฉลี่ยในที่ลุ่มต่ำ ที่มันท่วมกันซ้ำซาก แต่น้ำท่วมใหญ่ 20 -70 ปีจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เช่น น้ำท่วมปี  2538 อยู่ในรอบ 30 ปี ส่วน 2554 อยู่ในรอบ กว่า70 ปี


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ฤทธิ์เอลนีโญ ไทยส่อเจอแล้งหนัก2-4ปี

view