จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติแถลงวันนี้ (9 ก.ย.) ว่า ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ที่ทะยานสูงขึ้นได้ฉุดให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซ เรือนกระจก ในชั้นบรรยากาศพุ่งแซงหน้าสถิติเก่าในปี 2013 ขณะที่มหาสมุทรซึ่งคอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็มีสภาพเป็นกรดมากกว่าที่เคย
มิเชล จาร์โรด์ เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ซึ่งเผยแพร่รายงานการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในวันนี้ (9) กล่าวว่า “เราเชื่อได้สนิทใจเลยว่า ภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งยังเกิดปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศสุดขั้วมากขึ้น โดยเป็นผลมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิง” เพื่อนำพลังงานมาใช้
จาร์โรด์ระบุในคำแถลงว่า “เราต้องเปลี่ยนแปลงทิศทางของสภาพอากาศ โดยทุกภาคส่วนจะต้องร่วมใจกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ”
เขาเตือนว่า “เวลาของเราใกล้จะหมดลงแล้ว”
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ต่างมีระดับความเข้มข้นพุ่งทะลุสถิติปี 2013
เมื่อปีที่แล้ว ระดับความเข้มข้นของ CO2 ทั่วโลก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของสภาวะโลกร้อน ได้พุ่งแตะ 396 ส่วนในล้านส่วน (396 พีพีเอ็ม) หรือเพิ่มขึ้นจากระดับในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม (ก่อนปี 1750) ถึง 142 เปอร์เซ็นต์
รายงานฉบับนี้ที่ใช้ชื่อว่า “กรีนเฮาส์ ก๊าซ บุลลิตอิน” (แถลงการณ์ก๊าซเรือนกระจก) ยังระบุด้วยว่า ตัวเลขดังกล่าวชี้ว่า เมือปี 2013 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นจากปี 2012 ถึง 2.9 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งนับเป็นการขยับตัวสูงสุดในรอบ 30 ปี
รายงานฉบับถูกเผยแพร่ก่อนที่ บัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติจะเรียกประชุมซัมมิต ในวันที่ 23 กันยายนนี้ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนที่ในปีหน้าจะมีการเจรจาหารือกันที่กรุงปารีส เพื่อผลักดันการทำข้อตกลงว่าด้วยภูมิอากาศครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะประกาศใช้ในปี 2020
ทั้งนี้ ยูเอ็นกำลังพยายามหาทางควบคุมให้อุณหภูมิโลกขยับตัวขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงก่อนปฏิบัติอุตสาหกรรม แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบัน ภายในสิ้นศตวรรษนี้อุณหภูมิอาจพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่าของอัตราดังกล่าว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต