จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศาลปค.กลางสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีบ่อขยะแพรกษา สมุทรปราการ สั่งนายกอบต. แพรกษาเยียวยา จัดเวรยาม 24 ชั่วโมง
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาใน 2 คดีเกี่ยวกับบ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ ที่ศาลสั่งรวมพิจารณาคือคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และ นายสุชาติ นาคนก พร้อมพวกรวม 162 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ต.แพรกษา ยื่นฟ้อง นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา เทศบาลตำบลแพรกษา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา องค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ อุตสาหกรรมการจังหวัดสมุทรปราการ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-11 กรณีขอให้ศาลสั่งให้มีการปิดกิจการ หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการบ่อขยะที่อุตสาหกรรมจังหวัดออกให้กับเอกชน รวมทั้งสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กำกับดูแลเข้มงวดไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่ให้มีการปล่อยมลพิษออกจากบ่อขยะ และในเขตควบคุมมลพิษของจ.สมุทรปราการ ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวระบุว่าจากการไต่สวนผู้ว่าราชการ จ.สมุทรปราการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา และกรมควบคุมมลพิษแล้ว ให้การยอมรับว่ามีผู้นำขยะไปทิ้งในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้ดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะ ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นอันเป็นเหตุรำคาญ ก่อให้เกิดผลพิษ ซึ่งต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณดังกล่าวถึงสองครั้งคือเมื่อ 16 มี.ค. 2557 และ 8 เม.ย. 2557 จึงแสดงว่าคำฟ้องคดีนี้มีมูล โดยนายก อบต.แพรกษาให้ถ้อยคำกับศาลว่าได้มีการจัดเวรยามเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง และติดตั้งกล้องวงจรปิด รวมทั้งอุปกรณ์ดับไฟไว้พร้อมตลอดเวลา แต่หลังจากนั้นก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอีกครั้งเมื่อ 12 พ.ค. 2557 โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการลักลอบเข้าไปในพื้นที่และจุดไฟเผา จึงแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ให้ถ้อยคำต่อศาลจริง
“เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บ่อขยะที่พิพาทได้เกิดเพลิงไหม้ซ้ำกันในจุดเดิมถึงสามครั้ง แม้ไม่อาจระบุสาเหตุที่แท้จริงได้อย่างชัดเจน แต่หากใช้ความระมัดระวังมิให้มีการลักลอบเผาขยะในบริเวณดังกล่าว และหมั่นตรวจตราพื้นที่และสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ย่อมเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้อันเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 163 คนและชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบบ่อขยะและพื้นที่ใกล้เคียงได้ จึงมีคำสั่งให้นายก อบต.แพรกษา ดำเนินการตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยสั่งห้ามบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่พิพาท และจัดเวรยามเฝ้าระวังพื้นที่บ่อขยะที่พิพาทตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเพลิงไหม้ พร้อมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือสำหรับดับเพลิงไว้ให้พร้อม โดยให้นายกอบต.แพรกษา รายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ศาลทราบทุกวันที่ 5 ของเดือนจนกว่าคดีถึงที่สุด”
อย่างไรก็ตามในคำสั่งศาลเห็นว่ากรณีดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่ต้องให้กรมควบคุมมลพิษศึกษาสาเหตุของปัญหาและเสนอวิธีการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมต่อศาลทุก 15 วัน และศาลไม่มีอำนาจที่จะออกคำบังคับให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการบนที่ดินดำเนินการสร้างรั้วกั้นบ่อขยะพิพาทได้ จึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเฉพาะให้นายกอบต.แพรกษาดำเนินการตามที่ศาลมีคำสั่งเท่านั้น
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต