จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
กฟผ.เผยฤดูฝนล่วงมาแล้วเกือบ 2 เดือนแต่ปริมาณฝนในภาคเหนือยังคงน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าเกณฑ์ ปกติ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสิรินธรมากกว่าค่าสถิติที่เคยปรากฏ กฟผ.เฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อวางแผนเก็บกัก และระบายน้ำจากอ่างอย่างใกล้ชิด
นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ถึงปัจจุบัน (28 กรกฎาคม 2557) มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลเพียง 288 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ยมากถึงร้อยละ 58 หรือ 390 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกันมีการระบายน้ำจากเขื่อนจำนวน 1,078 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 30 ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้งานได้เหลืออยู่ในอ่างฯ 284 ล้าน ลบ.ม. นับว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 3 รองจากที่เคยเกิดในปี 2535 และปี 2553
สำหรับเขื่อนสิริกิติ์ มีสถานการณ์น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำดีกว่า โดยในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม-28 กรกฎาคม 2557 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจำนวน 845 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 24 หรือ 274 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกันมีการระบายน้ำจากเขื่อน จำนวน 1,105 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 36 ของความจุ และมีปริมาณน้ำใช้งานได้เหลืออยู่ในอ่าง 537 ล้าน ลบ.ม. นับว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 4 รองจากที่เคยเกิดในปี 2535, 2556 และปี 2530
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนอื่นๆ นั้นเริ่มมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ บ้างแล้ว แต่ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากฝนที่ตกลงมายังอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าค่าปกติ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต
นอกเหนือจากภาวะปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน กฟผ.อยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรัดกุมแล้ว ในปีนี้ กฟผ.ยังมีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในแถบภาคตะวันออกเฉียง เหนือด้านตะวันออก ที่มีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ของ กฟผ. ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคมมากกว่าค่าสถิติที่เคยปรากฏ ทำให้มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ เพิ่มมากขึ้นอยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ กฟผ.ได้เฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อการวางแผนเก็บกักและระบายน้ำจากอ่างฯ ให้เหมาะสม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต