จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"วิชา"แนะพาณิชย์ เป็นโจทก์ฟ้องแพ่งจำนำข้าว 5 แสนล้าน ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลางในการวิเคราะห์ข้อมูลความ
ภายหลังจากการชี้มูลความผิดในคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช. ยังคงดำเนินการในกระบวนการสอบสวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ส่วนการหาตัวผู้รับผิดชอบความเสียหายในทางการเงินต้องเป็นอีกกระบวนการหนึ่ง
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งประเมินมูลค่าความเสียหายประมาณ 4- 5 แสนล้านบาทว่า หลังจาก ปปช.มีการไต่สวนคดีและส่งเรื่องให้กับสำนักงานอัยการซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายแล้ว มีการพูดถึงการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว
เรื่องดังกล่าวหากสามารถทำได้จริง ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการตามระบบกฎหมายได้อย่างครบถ้วนและเป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากตามหลักการดำเนินคดีกับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ระบุไว้จะต้องสิ้นสุด ที่การยึดทรัพย์ของผู้กระทำผิดมาคืนให้กับแผ่นดิน ซึ่งก่อนที่จะนำไปสู่การยึดทรัพย์ ก็ต้องมีการฟ้องร้องคดีทางแพ่งก่อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายคืนให้กับรัฐ
อย่างไรก็ตามการดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่ง ไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดย ป.ป.ช.แต่ควรดำเนินการโดยหน่วยงาน ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้น โดยที่ผ่านมามีคดีตัวอย่าง เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง หน่วยงานรัฐคือกรุงเทพมหานคร ก็เป็นผู้เรียกร้องค่าเสียหายกับนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้อง ขณะที่คดีทุจริตคลองด่าน ผู้โจทก์ในการยื่นฟ้องคดีก็คือกรมควบคุมมลพิษ
แนะพาณิชย์เจ้าภาพฟ้องทางแพ่ง
ส่วนเรื่องความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงพาณิชย์ก็ควรจะเป็นเจ้าภาพหลัก ในการฟ้องร้องผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเสียหายจากโครงการนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการระบายข้าวในช่วงที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์สามารถทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเป็นมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่
“ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน ก็ควรเดินหน้าในเรื่องนี้ ในการฟ้องร้องทางแพ่งกับคนที่กระทำความผิดในช่วงที่ผ่านมา โดยยึดหลักทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งถ้าทำให้จริงจังก็จะเกิดบรรทัดฐานในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายวิชากล่าว
ไต่สวนขยายผลผู้ค้าข้าวรายใหญ่
สำหรับความคืบหน้าในการไต่สวนคดีรับจำนำข้าว นายวิชา กล่าวว่าขณะนี้ ป.ป.ช.ยังคงทำงานในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการชี้มูลความผิดนักการเมืองบางคนไปแล้ว แต่การตรวจสอบจะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้ได้พยานหลักฐานในการเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ได้ประโยชน์และบงการโครงการนี้ โดยขณะนี้ ป.ป.ช.ได้มีการขยายผลการไต่สวนสู่ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ในหลายจังหวัด ซึ่งมีหลักฐานทางการเงินโยงไปถึงว่าเกี่ยวข้องกับการจ่ายเช็กไปยังกรมการค้าต่างประเทศในวงเงินรวมกว่าพันล้านบาท ซึ่งจะต้องชี้แจงและยืนยันได้ว่ามีการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศจริงหรือไม่หรือเป็นการกระทำผิดโดยเอาข้าวมาเวียนขายในประเทศ
“ในการไต่สวนเรื่องนี้ ป.ป.ช.ก็มีความเข้าใจสถานการณ์ที่ผ่านมาว่าผู้ค้าข้าวอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะรัฐคุมสต็อกข้าวอยู่ทั้งหมด ดังนั้นก็เกิดการดิ้นรน ให้ได้ข้าวมาโดยผ่านการจัดหาของเครือข่ายนักการเมือง แล้วมีการออกเช็กไปยังกรมการค้าต่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ส่งออกแต่มาเวียนขายในประเทศ ซึ่งตรงนี้จะมีความผิดแน่นอน ในเรื่องการค้าที่ไม่เสียภาษี ซึ่ง ป.ป.ช.เรียกมาให้ข้อมูลผู้ค้า ก็จะกลัวเรื่องภาษีย้อนหลัง ซึ่งถ้าให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ป.ป.ช.ก็จะกันไว้เป็นพยาน แต่ตอนนี้ พยานบางส่วนก็กลัวการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลัวว่าหากมีการเลือกตั้งแล้วขั้วการเมืองเดิมกลับมา เขาจะอยู่ไม่ได้ทำธุรกิจไม่ได้” นายวิชากล่าว
พาณิชย์ฟ้องไล่เบี้ยโกดัง-เซอร์เวเยอร์
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่สร้างความเสียหายให้โครงการจำนำข้าวนั้นกรอบใหญ่ยังไม่ได้หารือกัน แต่ขณะนี้ในกรณีการตรวจโกดังข้าว ถ้าพบ ข้าวหาย ข้าวเสื่อมสภาพ ทางกระทรวงพาณิชย์จะแจ้งความดำเนินคดีฟ้องไล่เบี้ยไปทีละขั้นตามความรับผิดชอบ เช่น เจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ ซึ่งจะถูกดำเนินคดีทั้งหมด
"ปนัดดา"เผยโกดังชัยนาทข้าวหายกว่า 90%
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐ ระบุว่า ตามรายงานประจำวันที่ 23 ก.ค. 57 ซึ่งคณะทำงาน นำโดยผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงต่างๆ ได้รายงานให้ประธานคณะอนุกรรมการฯ พบข้าวขาดหายโดยไม่ระบุเหตุผล ดังนี้ 1.จ.ชัยนาท โกดังหนึ่งแห่ง ข้าวขาดหาย คิดเป็น 92.33 % 2. จ.สุพรรณบุรี ไซโลหนึ่ง ข้าวขาดหาย 4 ถัง รวม 1,422.98 ตัน และโกดังหนึ่งแห่ง ข้าวขาดหาย คิดเป็น 48.30 % 3.จ.อ่างทอง โกดังหนึ่งแห่ง ข้าวขาดหายคิดเป็น 6.51 % และ 4.จ.เชียงราย ไซโลหนึ่ง ข้าวขาดหาย 2 ถัง รวม 1,101.49 ตัน
ซูเปอร์บอร์ดสั่งโละทิ้งบอร์ดอ.ต.ก.
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.)กล่าวว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่กำหนดให้มี การประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณปี 58 อย่างไรก็ตามระหว่างที่มีการประชุมนั้น ได้มีหนังสือจาก คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจหรือ ซูเปอร์บอร์ด มาถึงและมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แทน
ประกอบด้วยนายบุญสืบ อินทร์อุไร นายดิเรก ทัศนพันธุ์ นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร นายธานินทร์ ผะเอม และนายวิทวัส ชัยปาณี เป็นกรรมการ แทน นายกมลวิศว์ แก้วแฝก นายชนรรค์ พุทธมิลินประทีบ นายมานิต นิธิประทีป นายยศพนต์ จันทรสุขศรี นายบุญสืบ อินทร์อุไร นายดิเรก ทัศนพันธุ์ โดยที่นายชวลิต ยังเป็นประธานโดยตำแหน่ง และนายธเนศพล ธนบุญยวัฒน์ ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. เป็นเลขาฯโดยตำแหน่ง ทั้งนี้กรรมการที่มีปรับเปลี่ยนทั้งหมดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ซูเปอร์บอร์ดเลือกและแต่งตั้งขึ้นมา
“คณะกรรมการชุดเก่า ได้หมดวาระไปแล้วตั้งแต่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา การทำงานระหว่างนี้เป็นเพียงรักษาการ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จึงมีความเหมาะสม และจะมีการเรียกประชุมเร็วๆ นี้” นายชวลิต กล่าว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต