จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ชุมพร - ชาวบ้านที่ชุมพรโวยโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน ปล่อยทิ้งของเสียลงคลองสาธารณะทำปลาตายเป็นเบือ ทั้งๆที่เคยร้องเรียนหน่วยงานเกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ ( 26 ก.ค.) นายแสงทอง ชนกเศรณี นายก อบต.สวนแตง นายสุรเดช ชูเดชา ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มรักคลองดวด พร้อมชาวบ้านจำนวนหนึ่งนำ นายบุญโชค ขนาบแก้ว อุตสาหกรรม จ.ชุมพร
เจ้าหน้าที่ประมงอำเภอละแม ลงพื้นที่ลำคลองสาธารณะคลองดวด หมู่ 2 ต.สวนแตง อ.ละแม จ.ชุมพร เพื่อตรวจสอบน้ำในคลองที่เกิดการเน่าเสียจนกลายเป็นสีดำคล้ำ มีกลิ่นเหม็นส่งผลให้ปลาชนิดต่างๆ ในลำคลองตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากมาแล้วหลายครั้ง แม้ชาวบ้านจะเคยร้องเรียนหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการตามกฎหมายแล้วก็ตาม
นายสุรเดช ชูเดชา แกนนำชาวบ้านกลุ่มรักคลองดวด กล่าวว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2556 ทำให้ปลาในคลองดวดและปลาที่ท่าน้ำหน้าวัดบ้านดวดเลี้ยงไว้ตายเกือบ 4 ตัน ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2556 แต่ก็ไม่รุนแรงมากนัก และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 น้ำในคลองมีการเน่าเสียจนเป็นสีดำคล้ำและพบว่าปลาในคลองลอยขึ้นมาตายเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุมาจากโรงงานสกัดน้ำปาล์มน้ำมันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 7 ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร ไม่มีระบบการดูแลของเสียซึ่งเกิดจากการสกัดน้ำมันปาล์มไม่ดีพอ ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซากถึง 3 ครั้งแล้ว จนทำให้น้ำคลองดวดซึ่งเป็นคลองสาธารณะต้องเน่าเสีย ทั้งๆที่เคยร้องเรียนหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการให้โรงงานดังกล่าวได้แก้ไขปัญหา แต่ก็ยังมีการปล่อยของเสียลงลำคลองสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างซ้ำซาก
ด้าน นายบุญโชค ขนาบแก้ว อุตสาหกรรม จ.ชุมพร กล่าวว่าได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบน้ำที่เน่าเสียในคลองดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นพบว่าเกิดจากการที่โรงสกัดน้ำมันปาล์ม นำกากตะกอนของเสียไปกักเก็บไว้ในที่ไม่เหมาะสม ทำให้เมื่อฝนตกช่วงที่ผ่านมาน้ำได้ชะล้างตะกอนของเสียลงห้วยควนทัง และไหลลงสู่คลองดวด ทำให้เกิดการเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงส่งผลให้มีปลาตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งยอมรับว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงวัดระดับออกซิเจนในคลองดวดตรงจุด พบว่าระดับออกซิเจนของน้ำในคลองดวดลดเหลือเพียง 0.40 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากและส่งผลทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก
โดยเบื้องต้นได้นำเครื่องตีน้ำมาติดตั้งเพื่อที่จะเพิ่มระดับออกซิเจนในน้ำและนำออกซิเจนชนิดแบบผงมาโปรยลงน้ำเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นไปก่อน นอกจากนี้ได้มอบหมายให้นิติกรของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ลงมาดูแลทางด้านกฎหมาย เพื่อดำเนินการเอาผิดกับโรงงานดังกล่าว ต่อไป.
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต