จากประชาชาติธุรกิจ
ภูเขาไฟฟูจิ ที่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น นอกจากจะเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ (3,776 เมตร) แล้ว ยังกลายเป็นเครื่องหมายการค้าและสัญลักษณ์ของอะไรต่อมิอะไรมากมายของญี่ปุ่น อีกด้วย หลังสุดเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพิ่งขึ้นทะเบียนภูเขาไฟแห่งนี้และบริเวณแวดล้อมเป็นพื้นที่มรดกโลก จากการเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปิน หลากแขนงอีกด้วย
ภูเขาไฟแห่งนี้ปะทุพ่นเถ้าถ่านและลาวาออกมาเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ 307 ปีก่อนหน้านี้ และทีมนักวิจัยทางธรณีวิทยา แผ่นดินไหวชาวฝรั่งเศสและญี่ปุ่นจาก อินสติติวท์ ออฟ เอิร์ธไซน์เซส (ไอเอสที) ในเมืองเกรอโนบ ประเทศฝรั่งเศส เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการศึกษาวิจัยที่พบว่า ฟูจิ กำลังจะกลับมาปะทุอีกครั้ง และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนก่อนการระเบิดของภูเขาไฟที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า "ภาวะวิกฤต"
ฟลอรองต์ บรองกีเอร์ หนึ่งในทีมวิจัยที่ทำหน้าที่เป็นผู้เขียนรายงานผลการวิจัยครั้งนี้ด้วยระบุว่า ผลสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้บอกว่า ภูเขาไฟฟูจิกำลังจะระเบิด แต่ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่า ภูเขาไฟลูกนี้กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นภาวะก่อนหน้าที่ภูเขาไฟจะระเบิดเท่านั้น
ทีมวิจัยอาศัยข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาวะแผ่นดินไหวจำนวน 800 ตัว ที่ติดตั้งไว้เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ เรียกว่า "ไฮ-เน็ต" ซึ่งถือเป็นเครือข่ายเซ็นเซอร์แผ่นดินไหวที่หนาแน่นที่สุดในโลก โดยอาศัยข้อมูลมหาศาลซึ่งได้เซ็นเซอร์ตรวจวัดและจัดเก็บไว้เมื่อครั้งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นอกชายฝั่งด้านตะวันตกของญี่ปุ่นในปี 2011 ซึ่งวัดความรุนแรงได้ 9.0 ตามมาตราริกเตอร์ และเป็นแผ่นดินไหวที่ก่อให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่สร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุคุชิมา นั่นเอง
การกลับไปตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อดูว่าภูเขาไฟต่างๆ มีปฏิกิริยาอย่างไรกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรุนแรงดังกล่าวนั้น ซึ่งหากมีข้อมูลดีพอว่าพลังงานจากแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อภูเขาไฟอย่างไร นักวิจัยก็สามารถประเมินภาวะเสี่ยงของภูเขาไฟระเบิดได้ดีมากขึ้น จนอาจคาดการณ์การระเบิดได้
ทีมวิจัยตรวจสอบสิ่งที่นักวิชาการแผ่นดินไหวเรียกว่า "ซีสมิค นอยซ์" ซึ่งเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างการไหวตัวของมหาสุมทรและแผ่นเปลือกโลก ในการเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งจะเกิดซีสมิค นอยซ์ขึ้น ถ่ายทอดออกไปไกลมากอาจถึงขนาดวนรอบโลกได้หลายรอบ และก่อให้เกิดการปริแตกของแผ่นเปลือกโลกในจุดที่เปราะบางได้ จากการตรวจสอบซีสมิค นอยซ์ของแผ่นดินไหวเมื่อ 3 ปีก่อนอย่างละเอียด ทีมวิจัยพบว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นอาณาบริเวณของภูเขาไฟมากที่สุด ในขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงกับจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวที่เป็นเปลือกโลกแข็งจะไม่ได้รับผลสะเทือนมากเท่า
เหตุผลก็คือ แผ่นเปลือกโลกบริเวณภูเขาไฟมีสภาพเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนั้น ยังมีสิ่งซึ่งเป็นของเหลวที่สะสมความร้อนกักเก็บอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นน้ำในอุณหภูมิเดือดพล่าน, ก๊าซ, แม็กมาหรือหินในสภาวะหลอมละลาย เป็นต้น แผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 ไปเพิ่มแรงกดดันให้กับสภาพใต้ภูเขาไฟฟูจิซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพไร้เสถียรภาพในบริเวณดังกล่าวให้มากขึ้นตามไปด้วย
ถ้าหากภูเขาไฟที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า "ฟูจิซัง" ระเบิดขึ้นมาจริง ก็อาจก่อให้เกิดหายนะสำหรับประชากร 8 ล้านคน ของกรุงโตเกียวที่อยู่ใกล้เคียงได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เมื่อต้นปีนี้ ทางการกรุงโตเกียวเริ่มนำแผนอพยพฉุกเฉินมาใช้และฝึกซ้อมตามแผนดังกล่าว ที่กำหนดให้ประชาชนราว 1.2 ล้านคน ในบริเวณประชิดภูเขาไฟฟูจิโดยรอบอพยพหนีออกจากที่พักในกรณีเกิดระเบิดขึ้น คนกลุ่มดังกล่าวจะเผชิญกับลาวา
ในขณะที่กลุ่มคนที่อยู่ในรัศมีถัดออกไป จะเผชิญอันตรายจากเถ้าถ่านภูเขาไฟเท่านั้น
ที่มา : นสพ.มติชน
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต