จากประชาชาติธุรกิจ
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมยกระดับราคาสินค้าเกษตรทั้งพืช ปศุสัตว์และประมงขึ้น 20% ในปี 2567 โดยการเปลี่ยนมาตรฐานสินค้าเกษตรจากมาตรฐานแนะนำเป็นมาตรฐานบังคับ ที่ผ่านมาเกษตรกรเพาะปลูกตามฤดูกาล และเพาะปลูกตามราคาที่จูงใจ ไม่มีการวางแผนการผลิตส่งผลให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ สินค้าล้นตลาด เกษตรกรต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา และใช้งบประมาณจำนวนมาก ในขณะที่เกษตรกรมีผลตอบแทนไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้น นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ หลังจากนี้เกษตรกรจะต้องปรับแผนการผลิตใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเริ่มจากการที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ต้องออกมาตรฐานบังคับขึ้น โดยเลือกสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก่อน
สำหรับมาตรฐานที่เกิดขึ้นอย่างน้อยต้องมีวิธีการเพาะปลูก วิธีการเลี้ยงที่ดีและเหมาะสม (จีเอพี) สินค้าที่ผ่านการรับรอง จีเอพีแล้วจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% กรณีที่สินค้าสามารถรับรองมาตรฐานที่สูงกว่านี้ เช่น เกษตรอินทรีย์ที่เป็นมาตรฐานสูงสุด ราคาจะเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่งและมีตลาดรองรับจำนวนมาก วิธีการนี้จะส่งผลให้รายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.3 แสนบาท/ปี เป็น 1.8 แสนบาท/ปี เท่ากับรายได้ของผู้ที่จบปริญญาตรี
นายยุคลกล่าวว่า สินค้าที่ทำมาตรฐานยากที่สุดคือพืช-ผัก เนื่องจากมีระยะเวลาการปลูกสั้นประมาณ 45 วันเท่านั้น อีกทั้งยังปลูกกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ยากต่อการตรวจสอบรับรอง และมีปัญหาต่อการส่งออกมาก กรณีการตรวจพบสารปนเปื้อน ขณะที่สินค้าประมง ปศุสัตว์ จะทำได้ง่ายกว่าเพราะมีฟาร์มเลี้ยงที่ชัดเจน สามารถควบคุมระบบการผลิตได้ ส่วนกรณีข้าวจะมีความยุ่งยากเนื่องจากมีพื้นที่ปลูกมาก อีกทั้งไทยมีความหลากหลายด้านสายพันธุ์ ดังนั้น การทำมาตรฐานข้าวจีเอพีจึงต้องเริ่มจากการคัดสายพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวลืมผัว เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่วนพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงไม่นิยมบริโภคต้องนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แป้งทำขนม เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เป็นต้น สำหรับสินค้าเกษตรที่ไม่ใช่อาหารอย่างยางพาราต้องหันมาพิจารณาการลงทุนด้านอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรม ขั้นปลาย เช่น ยางล้อ ถุงมือยาง ซึ่งการแก้ไขปัญหาทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
"งานทั้งหมดนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องเริ่มทำ เพราะภาคการเกษตรจะถูกบีบบังคับจากการเปิดตลาดเสรี อีกทั้งยังเป็นเกราะกำบังให้สินค้าของไทย หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ที่อาจมีสินค้าชนิดเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามา กรณีที่มีมาตรฐานเกิดขึ้นจะสามารถนำมากำหนดเป็นเงื่อนไขการ นำเข้าได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับไทยด้วย" นายยุคลกล่าว
นายยุคลกล่าวว่า เพื่อให้การสร้างมาตรฐานสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงสั่งการให้เกษตรจังหวัดทุกจังหวัดจัดทำแผนการผลิตสินค้าหลักในพื้นที่ โดยต้องบอกรายละเอียดของพื้นที่ ช่วงเวลาการผลิต ช่วงเวลาที่ออกสู่ตลาด ปริมาณผลผลิต เป็นต้น ข้อมูลที่ได้เหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถเข้าไปส่งเสริมและเตรียมการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
ที่มา ข่าวสดรายวัน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต