จากประชาชาติธุรกิจ
ชมรม รังนกปัตตานีออกโรง "จี้" รัฐทำ MOU ส่งเสริมส่งออกรังนก หลังถูกจีนห้ามนำเข้าไม่ต่ำกว่า 7 เดือน เหตุตรวจพบสารก่อมะเร็งไนเตรดปนเปื้อน เสียหายนับหมื่นล้าน ส่งผลราคารังนกตกฮวบจาก กก.ละ 50,000 บาท เหลือแค่ 10,000 บาท รังนกอินโดฯ-เวียดนามผงาด ส่งออกแซงหน้า
หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐาน คุณภาพสินค้าของรัฐบาลจีน หรือ General Administration for Quality Supervision, Inspection and Quarantine (AQSIQ) ได้ออกประกาศห้ามนำเข้ารังนกทุกชนิดจากทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย หลังจากตรวจพบมี "สารไนเตรด" ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่ในรังนกสีแดงที่ส่งออกจากมาเลเซีย ส่งผลให้ราคารังนกในตลาดตกลงอย่างหนัก รวมไปถึงผู้ประกอบการรังนกแปรรูปเองก็ไม่กล้าส่งออกรังนกไปยังจีนด้วย
นายกมล ศักดิ์ เลิศไพบูลย์ ที่ปรึกษาชมรมรังนกปัตตานี เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางชมรมได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอให้แก้ไขปัญหาไทยไม่สามารถส่งออกรังนกไปประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ารังนกรายใหญ่กว่า 90% เนื่องจากจีนตรวจพบมีสารไนเตรดปนเปื้อนอยู่ในรังนก ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายไทยและจีนได้เปิดการเจรจาแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่เดือนเมษายน ช่วงที่ น.ส.
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนจีน
ทั้ง นี้ AQSIQ ได้ออกประกาศห้ามพกพา หรือส่งรังนกเข้าประเทศจีน (ยกเว้นรังนกกระป๋อง) ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจีนได้ออกมาตรการชั่วคราวการนำเข้ารังนกจากต่าง ประเทศระบุ ต้องมีสารเติมแต่งไนเตรดในรังนกไม่เกิน 30 ppm โดยการแก้ปัญหาเบื้องต้นฝ่ายไทยได้แจ้งให้ฝ่ายจีนทราบว่า สินค้ารังนกไทยมีสารไนเตรดอยู่ในระดับต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ส่งเสริมสินค้ารังนกร่วมกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เวลาผ่านไปได้ 7 เดือนจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถลงนามใน MOU ฉบับดังกล่าวได้ เนื่องจากรายละเอียดในร่าง MOU กำหนดให้ต้องมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการรังนก และตั้งคอลเล็กติ้งเซ็นเตอร์ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นทางฝ่ายจีนจึงจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบรับรองโรงงาน ก่อนจะอนุญาตให้ส่งออก
"เราไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการรังนก ได้ ก็เพราะติดปัญหาขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงนกนางแอ่น (รังนกบ้าน) ยังเป็นธุรกิจที่อยู่ในระบบใต้ดิน ไม่มีกฎหมายรองรับ จะมีเพียงแต่รังนกถ้ำเท่านั้นที่มีการแบ่งสัมปทานให้ทำธุรกิจเพียง 9 จังหวัด เนื่องจาก "นกนางแอ่น" เป็นสัตว์สงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หากผู้ใดมีรังนกนางแอ่นไว้ครอบครองถือว่ามีความผิด เว้นแต่ผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ทำสัมปทานตาม พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 เท่านั้น โดยข้อยกเว้นไม่ครอบคลุมถึงผู้เลี้ยงนกนางแอ่นบ้าน หรือคอนโดฯนก ทั้ง ๆ ที่ผู้เลี้ยงรังนกบ้านมีการเสียภาษีให้ท้องถิ่นอย่างถูกต้อง ตามปริมาณพื้นที่การเลี้ยง" นายกมลศักดิ์กล่าว
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ด้วยการ 1) ลงนามใน MOU กับรัฐบาลจีนให้เร็วที่สุด กับ 2) เร่งแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2538 ให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจการเลี้ยงนกนางแอ่นบ้าน
"เรากำลังเสียเปรียบประเทศอินโดนีเซียที่สามารถลงนามใน MOU กับรัฐบาลจีนไปแล้ว ส่งผลให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรังนกเข้าไปจำหน่ายในจีนเป็น อันดับหนึ่ง มาเลเซียก็กำลังแก้กฎหมายการเพาะเลี้ยง ในประเทศเวียดนามก็ส่งออกมาเป็นอันดับ 3 แต่รังนกไทยยังเข้าไม่ได้ ราคารังนกไทยในท้องตลาดจึงตกลงอย่างหนัก จากที่เคยขายกันถึง กก.ละ 40,000-50,000 บาท ขณะนี้ตกลงมาเหลือประมาณ กก.ละ 10,000 บาทเท่านั้น"
อนึ่ง การส่งออกรังนกจากประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นธุรกิจใต้ดิน คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการส่งออกรังนกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (HS 0410.0010) ไปยังจีนในระหว่างปี 2552-2554 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 3,824,469 บาทเท่านั้น
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ