11จ.ภาคอีสานประสบภัยแล้ง
จาก โพสต์ทูเดย์
กรมป้องกันฯ เผย 11 จังหวัด ภาคอีสานประสบภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – ปัจจุบัน จำนวน 11 จังหวัด 82 อำเภอ 581 ตำบล 5,994 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย หนองบัวลำภู มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ และจังหวัดนครพนม
ปัจจุบันมีจังหวัดที่ได้ประกาศให้พื้นที่บางแห่งเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ฝนทิ้งช่วง) 11 จังหวัด 77 อำเภอ 554 ตำบล 5,714 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร มหาสารคาม อำนาจเจริญ และจังหวัดนครพนม
สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (ข้อมูล กรมชลประทาน ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 51,860 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด น้อยกว่าปี 2554 (65,436 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 13,576 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ทั้งหมดวันนี้ 58.69 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบายวันนี้ 85.75 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำภูมิพลและอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯทั้งหมด 8,618 และ 6,561 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64 และ 69 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมดตามลำดับ โดยมีปริมาตรน้ำทั้งสองอ่างฯ รวมกัน จำนวน 15,179 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบายรวมกันทั้งสองอ่างฯ วันนี้ 22.73 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้านปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ จำนวน 662 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 680 ลบ.ม./วินาที) ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จำนวน 500 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 260 ลบ.ม./วินาที) เขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 32 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 41 ลบ.ม./วินาที)
ชาวนาสูบน้ำเข้านาเองหลังฝนแล้ง
จาก โพสต์ทูเดย์
ชาวนากันทรลักษ์ ต้องเร่งเกี่ยวข้าวก่อนจะยืนต้นตาย บางรายต้องสูบน้ำใส่นาข้าวหลังฝนแล้ง
ชาวนาในพื้นที่ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงประสบกับปัญหากับภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง เริ่มแห้งยืนต้นตายแล้ว โดยชาวนาบางรายในพื้นที่ต้องใช้วิธีการแก้ปัญหา โดยการสูบน้ำใส่ในแปลงนา เพื่อช่วยไม่ให้ต้นข้าวต้องยืนต้นตายไปมากกว่านี้ ทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนมากขึ้น จากตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวพบว่า เกษตรกรต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งเป็นวงกว้าง โดยมีพื้นที่เสียหายกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งต้นข้าวในทุ่งนา หลายแปลงเริ่มที่จะเหี่ยวแห้งยืนต้นตายเนื่องจากขาดน้ำแล้ว
ขณะที่เกษตรกรบางรายหันมาเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที แม้ว่าเม็ดข้าวและขนาดข้าวจะไม่ได้ปริมาณและคุณภาพตามที่คาดไว้ แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ต้นข้าวแห้งตายเนื่องจากขาดน้ำ โดยปริมาณข้าวที่ได้ในปีนี้ก็มีปริมาณลดลงมาก กว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากเม็ดข้าวนั้นลีบแห้งเนื่องมาจากการขาดน้ำ
นายสมผล บุตรราช อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ 14 ตำบลหนองหญ้าลาด อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ผลผลิตในปีนี้แทบไม่ได้อะไรเลย เนื่องจากว่าแห้งแล้งฝนทิ้งช่วงมาก เคยได้ข้าวอยู่ 80 กระสอบ ปีนี้ได้แค่ 30 กระสอบหายไป50 กระสอบข้าวน้อยมากและไม่ได้มาตรฐานเข้าโครงการรับจำนำก็คงไม่ได้ ได้แค่ไหนก็ต้องเอาทำไงได้ต้องจำยอมเนื่องจากแห้งแล้งมาก
ชาวนาเร่งสูบน้ำเข้านาข้าวก่อนยืนต้นตาย
จาก โพสต์ทูเดย์
ชาวนาเมืองพิษณุโลกเร่งสูบน้ำเข้านาข้าวก่อนข้าวยืนต้นตายหลังฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน
นายเฉลียว ตุ้มสุข อยู่บ้านเลขที่ 15/1 หมู่ 3 ต.งิ้วงาม อ.เมือง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ขณะนี้อตลอดเส้นทางมีชาวนาตั้งเครื่องรถไถเพื่อสูบน้ำจากคลองชลประทานที่ บริเวณคลองชลประทาน ต.งิ้วงาม อ.เมืองพิษณุโลกเพื่อเข้านาข้าวเป็นจำนวนมากเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่มี อายุประมาณ 60 วัน เนื่องจากกลัวข้าวยืนต้นตายหลังจากประสบปัญหาภัยแล้งเพราะฝนทิ้งช่วงมานาน หลายเดือน
นายเฉลียว กล่าวว่า ปีนี้ชาวนาในพื้นที่ต.งิ้วงามทำนาล่าช้ากว่าพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากในฤดูน้ำที่ผ่านมา เกรงว่านาข้าวจะประสบปัญหาถูกน้ำท่วมเสียหาย จึงเลื่อนระยะเวลาการทำนาออก ในขณะที่หลายราย ยอมเสี่ยงลงทุนทำนา ในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งกลับกลายว่าเป็นผลดี เพราะปีนี้ไม่มีปัญหาน้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ชาวนาที่รอเวลาเนื่องจากกลัวน้ำท่วม ทำให้ทำนาล่าช้า ซึ่งในพื้นที่ตำบลงิ้วงาม มีอยู่ประมาณ 30 – 40 ราย ตอนนี้กำลังประสบปัญหา นาข้าวขาดน้ำ หลายแปลงชาวนาปล่อยต้นข้าวยืนต้นตายแล้ว เพราะลงทุนค่าน้ำมันสูบน้ำเข้านาไม่ไหว
นายเฉลียว กล่าวว่า ถึงแม้ในพื้นที่นาของตนเอง จะเป็นเขตชลประทาน มีคลองชลประทานผ่าน แต่ขณะนี้เป็นช่วงงดส่งน้ำให้เกษตรกร ทำให้ปริมาณน้ำในคลองมีน้อย หลายรายก็ต้องแย่งกันสูบน้ำที่มีอยู่เข้านาของตนเอง พร้อมทั้งยังได้กล่าวอีกว่า ปีนี้ชลประทานงดส่งน้ำเข้านาเร็วกว่าทุกปี โดยที่ผ่านมา ทางชลประทานจะประกาศงดส่งน้ำ หลังเทศกาลลอยกระทง หรือประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ปีนี้งดส่งน้ำตั้งแต่ต้นเดือน ยอมรับว่าปีนี้ชาวนาต้องปรับตัวในการวางแผนการทำนา เพราะช่วงที่คาดว่าน้ำจะท่วมก็ไม่ท่วม ช่วงที่เคยเริ่มลงมือทำนาได้ ก็กลับมาประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงขาดแคลนน้ำ และทำให้ตอนนี้ตนเองต้องมีภาระค่าใช้จ่าย เป็นค่าน้ำมันสำหรับสูบน้ำเข้านาเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกปีอีกด้วย
ฝนหลงฤดูถล่มเมืองสุรินทร์
จาก โพสต์ทูเดย์
ฝนตกหนักหลงฤดูถล่มปราสาทเมืองสุรินทร์ ทำให้ชาวนาเกี่ยวข้างกลางฝน
เมื่อเวลา15.30 น.เกิดฝนหลงฤดูใน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ นานกว่า 2 ชั่วโมง ทำให้ชาวนาที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวจำต้องเกี่ยวข้าวกลางฝนที่ตกหนัก ส่วนชาวนาที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ต้องรีบเก็บข้าวที่ตากเพื่อหนีฝนกันอย่างจ้าละหวั่น
ขณะที่เกษตรกร ในพื้นที่ อ.ปราสาท ซึ่งกำลังบรรทุกข้าวเปลือกทั้งบนรถกระบะและรถบรรทุก ซึ่งต่อคิวยาวเหยียดเพื่อนำข้าวไปจำนำยัง สำนักงานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.สุรินทร์จำกัด สาขาปราสาท ต่างก็ถูกฝนตกทำให้ข้าวเปียกชื้นไปตามๆกันอีกด้วย
อย่างไรก็ตามข้าวส่วนใหญ่ที่เกษตรกรนำมาจำนำที่สนง.สหกรณ์การเกษตรเพื่อ การตลาดลูกค้า ธกส.สุรินทร์จำกัด สาขาปราสาท นั้น เป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ซึ่งเกษตรกรได้นำมาจำนำหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ ซึ่งมีความชื้นมากอยู่แล้ว ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการหักค่าความชื้นมากนักเนื่องจากว่าโรงสีต้องนำข้าว ที่มีความชื้นเข้าห้องอบอยู่แล้ว
แต่ข้าวบางส่วนที่เกษตรกรเสียเวลา ตาก 2-3 วันขึ้นไป และพึ่งบรรทุกมาจำนำนั้นต้องเปียกชื้นไปตามๆกัน โดยบางส่วนหากเปียกชื้นมากเกินไปก็ถูกหักค่าความชื้นมากตามที่กำหนดเกณหัก ค่าความชื้น และก็เลี่ยงไม่ได้ซึ่งเกษตรกรต้องจำใจยอมรับสภาพสภาวะฝนที่ตกหลงฤดูดังกล่าว ถึงแม้ต้องเสียเวลาตากข้าวมานานหลายวันเพื่อหวังได้ราคาดีก็ตาม
นาย น้อย เหมาะหมาย ชาวนาอยู่บ้านเลขที่2 หมู่ 8 บ้านถนนชัย ต.กันตรวจระมวล อ.ปราสาท ขณะกำลังตากข้าวหลังเก็บเกี่ยวเสร็จถึง 2 วัน เพื่อไล่ความชื้นและเพื่อให้ข้าวได้ราคาสูง จากนั้นก็บรรทุกมาจำนำ แต่ต้องมาต่อคิวยาวเหยียดและต้องเจอกับฝนตกหลงฤดูทำให้ข้าวที่อุตส่าห์ลงแรง เสียเวลาตากมาถึง 2 วัน ต้องถูกฝนตกเปียกชื้นบางส่วน ซึ่งก็ต้องจำใจรับสภาพให้โรงสีหักค่าความชื้นข้าวบางส่วนที่เปียกชื้นจากฝน ตกที่เกิดขึ้นและเลี่ยงไม่ได้ซึ่งก็แล้วแต่ว่าโรงสีจะเห็นใจหักมากน้อยแค่ ไหน
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ