จาก เดลินิวส์ออนไลน์
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณ ป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 และพระราชทานนามป่าสักดังกล่าวว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” และพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย จำนวน 4 หมู่บ้าน
ประกอบด้วย บ้านห้วยซลอบ บ้านนาอ่อน บ้านมะโนรา และบ้านห้วยปมฝาก ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เสริมสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความรัก ความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้อยู่ดีกินดี พึ่งพาตนเองได้ และเป็นกำลังหลักที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและปกป้องป่าแห่งนี้ไว้อย่าง ยั่งยืน ตลอดจนเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมไม้สักในถิ่นกำเนิดและนอกถิ่นกำเนิด รวมถึงเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยไม้สักที่ครบวงจรของประเทศไทยและในระดับสากลต่อไป
ทั้งนี้เนื่องจากในปี พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำรวจพบป่าผสมผลัดใบที่มีไม้สักธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์มาก ขึ้นกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง มีพื้นที่ต่อเนื่องกันกว่า 60,000 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย อำเภอเมือง และอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นป่าที่ฟื้นตัวจากการทำสัมปทานทำไม้ในอดีต จนกระทั่งมีการประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ในปี พ.ศ. 2515 ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เส้นทางคมนาคมเข้าถึงลำบาก ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งภูมิประเทศ ดิน และอากาศ จึงทำให้ป่าไม้สักแห่งนี้มีการฟื้นตัวของไม้สักรุ่นต่อมาจนกลับมาเป็นป่าที่ สมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลการสำรวจเบื้องต้นพบว่าป่าแห่งนี้มีไม้สักขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และส่วนใหญ่มีทรงต้นที่สวยงาม ค่าชี้วัดในเชิงปริมาณโดยรวมเมื่อเทียบกับป่าไม้สักแหล่งอื่น ๆ ของประเทศไทยถือว่า “ป่าสักผืนนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศไทย”
ทั้งนี้พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งพันธุกรรมไม้สัก เป็นพื้นที่ที่สำรวจพบป่าสักธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ป่า จึงได้มีหนังสือนำเรียนราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ดังกล่าว
ต่อมาสำนักราชเลขาธิการ มีหนังสือลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่า ได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว พระองค์ทรงรับโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร บริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระราชทานนามป่าสักดังกล่าวว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี”
เพื่อการสืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อดำเนินการตามแผนงาน และโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร บริเวณลุ่มน้ำของและลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี พ.ศ. 2554 เพื่อป้องกันรักษาพื้นที่ป่าสักให้คงความสมบูรณ์ รวมทั้งให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยไม้สักที่สำคัญของประเทศไทย และอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมโทรม ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร
ปัจจุบันเข้าสู่การดำเนินงานในปีที่ 2 จากการสำรวจป่าในบริเวณดังกล่าว ล่าสุดพบว่าเป็นป่าเบญจพรรณที่มีความสมบูรณ์มาก มีไม้สักขึ้นตามธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่เขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ท้องที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และไม้สักธรรมชาติที่พบมีลักษณะดี มีลำต้นขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรงแสดงให้เห็นว่าอัตราการเจริญเติบโตสม่ำเสมอ เนื่องจากสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ถูกรบกวนน้อย และที่สำคัญไม้สักดังกล่าวมีลักษณะพิเศษด้านพรรณพืช คือ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงกว่า 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นข้อมูลใหม่ของประเทศไทย เนื่องจากโดยปกติแล้วไม้สักมักจะเจริญเติบโตได้ดีในระดับความสูงไม่เกิน 700 เมตรจากระดับน้ำ
ทะเล ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผืนป่าไม้สักธรรมชาติที่สมบูรณ์แห่งนี้ถูก บุกรุกทำลายเพิ่มเติม จึงต้องดำเนินการสงวนไว้เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้สักธรรมชาติที่สมบูรณ์ แห่งนี้ไว้ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านพันธุกรรมไม้สัก รวมทั้งดำเนินการในเชิงรุก เร่งสร้างจิตสำนึกให้ราษฎร และชุมชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าแห่งนี้ ให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้กินดีอยู่ดี อย่างยั่งยืนต่อไป.
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ