จากประชาชาติธุรกิจ
นายสำเริง ครุฑดำ ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จังหวัดได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมือง และกำแพงแสน เลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์มากขึ้น หลังจากเกษตรกรว่างเว้นจากการทำนา ขณะนี้มีเกษตรกรเลี้ยงแล้วกว่า 200 ราย มีแพะทั้งสิ้น 7,000-8,000 ตัว โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2544 ที่เริ่มมีการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ประมาณ 1,000 ตัว คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีเกษตรกรหันมาเลี้ยงแพะมากขึ้นถึง 15,000-20,000 ตัว
เกษตรกรหันมาเลี้ยงแพะมากขึ้น เนื่องจากจังหวัดได้เร่งส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ เนื่องจากเนื้อแพะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100-300 บาท ขณะที่เนื้อสุกรราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท นอกจากนี้ต้นทุนการเลี้ยงแพะต่ำกว่าสุกร 20-30% ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นกว่าเพียง 4-6 เดือน ขณะที่ทิศทางตลาดค่อนข้างสดใส เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เป็นมุสลิมนิยมบริโภคเนื้อแพะสูงขึ้น โดยอินโดนีเซียส่งออกเนื้อแพะไปยังประเทศมุสลิมทั่วโลก มีมูลค่าตลาดสูงถึงปีละ 2-3 พันล้านบาท
สำหรับตลาดในประเทศก็กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มจังหวัดพัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แม้ว่าในภาคใต้จะมีการเลี้ยงแพะอยู่แล้ว แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งมีการส่งออกไปมาเลเซียด้วย
ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงสุกรใน จ.นครปฐม ประมาณ 700 ราย สุกรกว่า 5-6 แสนตัวเริ่มลดลงเรื่อย ๆ หลายรายย้ายไปเลี้ยงที่ จ.ราชบุรี เพราะราคาที่ดินสูงขึ้น ประกอบกับชุมชนเมืองได้เริ่มขยายเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงหมูมากขึ้น และมีการต่อต้านจากชุมชน คาดว่าภายใน 10 ปี นครปฐมจะเลิกเลี้ยงหมู
ทั้ง นี้หากได้รับการส่งเสริมที่ดีจากรัฐบาล นครปฐมจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกแพะรายใหญ่ ภายใน 5-7 ปีจะดันไทยสู่ผู้นำตลาดส่งออกอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน หากส่งออกได้ในช่วง 2 ปีแรกไทยจะมีมูลค่าตลาด 1,000 ล้านบาท นครปฐมหวังได้สัดส่วน 500-600 ล้านบาท แต่ต้องเร่งพัฒนาการเลี้ยงสู่ฟาร์มมาตรฐาน รวมทั้งลงทุนโรงฆ่าสัตว์ให้เป็นมาตรฐานสากลตามหลักศาสนาอิสลาม
ด้าน นายสัตวแพทย์ ภาณุมาศ สืบเก่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า โรคระบาดในแพะที่น่าเป็นห่วงคือ โรคแท้งติดต่อ ซึ่งจะทำให้แม่แพะแท้งลูก และจะติดต่อไปเป็นวงกว้างทำให้เพิ่มผลผลิตไม่ได้ และยังติดต่อสู่คนได้ ปัจจุบันพบโรคนี้เพียง 4-5%
นายดุษฎี เกิดลาภ ผู้จัดการฟาร์มคิงทอง และศูนย์สาธิตการเลี้ยงแพะ จ.นครปฐม เปิดเผยว่า เริ่มลงทุนทำฟาร์มแพะตั้งแต่ปี 2544 ขณะนี้มีแพะ 100 ตัว โดยจำหน่ายลูกแพะพันธุ์บอร์ และเลี้ยงไว้ขายเนื้อตัวละ 1.5 หมื่นบาท พันธุ์นมราคา 8,000 บาท/ตัว ต้นทุนการผลิต 1,000 บาท/ตัว เกษตรกรซื้อไปเลี้ยง 4-6 เดือน น้ำหนักแพะ 25-30 กก. ราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 120-130 บาท/กก. แต่หากนำไปชำแหละ ราคาจะอยู่ที่ 100-300 บาท/กก.
สำหรับ ตลาดหลักที่บริโภคเนื้อแพะ ได้แก่ กรุงเทพฯ สงขลา พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตลาดตะวันออกกลาง ส่วนพื้นที่เลี้ยงแพะ ได้แก่ นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี มีสัดส่วนมากถึง 70% ส่วนอีก 30% อยู่ในภาคใต้ ซึ่งมีฝนตกชุกตลอดทั้งปีมีความชื้นสูง ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงแพะ
การ เปิดเออีซีจะทำให้การเลี้ยงแพะเติบโตกว่านี้ แต่ภาครัฐต้องมีมาตรการเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายสัตว์จากต่างประเทศเพื่อ ป้องกันโรคระบาดเข้าประเทศ
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ