จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เชียงราย - ชาวสวนลำไยเมืองพ่อขุนฯ ลุกฮือซ้ำยกขบวนขึ้นศาลากลางเรียกร้องให้แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ร้องถามหา “ส.ส.เพื่อไทย-นายกฯ ปู-รมช.เต้น” หายหัวไปไหน บอกเชียงรายเป็นเสื้อแดงทั้งจังหวัดกลับไม่ยอมมาช่วย สุดท้ายรองผู้ว่าฯ เรียกแกนนำเข้าเจรจา ก่อนทุบโต๊ะสั่งให้ อปท.จัดงบชดเชยให้ ดีเดย์ตั้งแต่พรุ่งนี้ (26 ก.ค.)
วันนี้ (25 ก.ค.) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจาก อ.เมือง, พาน, เทิง, ขุนตาล, พญาเม็งราย, แม่จัน, แม่สาย ฯลฯ ประมาณ 300 คน ได้นำรถยนต์ประมาณ 50 คันเข้าปิดถนนเข้าออกศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือกรณีผลผลิตลำไยราคาตกต่ำอีกครั้ง
หลังจากเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมนำโดยนายสมิง ปินใจ กำนัน ต.ห้วยสัก อ.เมือง, นายวัชรพงศ์ ปิโย รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยสัก พร้อมผู้ใหญ่บ้านอีกหลายหมู่บ้าน ฯลฯ ได้เรียกร้องให้จังหวัดช่วยเหลือเนื่องจากราคาลำไยผันผวน พ่อค้าคนกลางรับซื้อราคาแตกต่างกันวันละ 2-3 รอบ อีกทั้งราคาตกต่ำลงเหลือเกรดเอเอกิโลกรัมละเพียง 15 บาท ซึ่งนายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย, นายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตรกร จ.เชียงราย ได้รับปากจะเชิญพ่อค้าลำไยไปหารือเพื่อเพิ่มราคาให้ แต่ผลปรากฏว่าพ่อค้ายังคงยืนยันจะรับซื้อเกรดเอเอกิโลกรัมละ 15 บาท เกรดเอ 8 บาท และเกรดบี 4 บาท
ผลจากการปิดถนนทำให้ข้าราชการที่เข้าไปทำงานที่ศาลากลาง และประชาชนที่ไปติดต่อราชการเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากเป็นศูนย์ราชการที่มีหน่วยงานต่างๆ ประจำอยู่หลายหน่วย
การชุมนุมครั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีแกนนำกลุ่มเดิมได้ถือป้ายเรียกร้องโจมตีใบใหญ่ว่า “ส.ส.เพื่อไทยหายหัวไปไหนหมด” และป้ายข้อความอื่นๆ รวมทั้งมีการนำรถปราศรัยโดยนายนิพนธ์ สารถ้อย ประธานกลุ่มผู้ปลูกลำไย ปราศรัยว่า เรามีนายกรัฐมนตรีเป็นคนภาคเหนือ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งชาวบ้านเลือกครบทั้ง 7 เขตเต็มจังหวัด แต่กลับหายไปหมด ไม่ลงมาช่วยเหลือชาวบ้าน แต่พอถึงคราวหาเสียงก็ออกมากราบไหว้ชาวบ้าน พอมีปัญหาเรื่องลำไย พาณิชย์จังหวัดไปเจรจากับพ่อค้าก็ได้ราคาต่ำกว่าที่ชาวบ้านต้องการที่เกรดเอ เอกิโลกรัมละ 20 บาท เกรดเอกิโลกรัมละ 15 บาท และเกรดบีกิโลกรัมละ 8 บาท
นายนิพันธ์กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงคนงานก็วันละ 300 บาท จากเดิมแค่ 150 บาท ส่วนค่าปุ๋ยก็แพง ค่าต้นทุนอื่นๆ ล้วนแพงหมด ราคาผลผลิตของเกษตรกรกลับตกต่ำลง นักการเมืองและข้าราชการก็ไม่ช่วยชาวบ้าน แม้แต่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นแกนนำคนเสื้อแดง ก็ไม่รู้หายไปไหน ทั้งๆ ที่ชาวเชียงรายก็เป็นเสื้อแดงกันทั้งจังหวัด ส.ส.และนายกรัฐมนตรีก็มาจากพรรคเพื่อไทยด้วย
ด้านนายวัชรพงศ์กล่าวว่า เงินสะพัดจากตลาดลำไยเฉพาะใน อ.เมือง คาดว่าอยู่ที่ฤดูกาลละกว่า 20-30 ล้านบาท เมื่อราคาตกต่ำจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจจังหวัดด้วย ดังนั้นพวกเราจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกันมาแล้ว 2 วัน แต่กลับไม่ได้ผล เพราะพาณิชย์จังหวัดฯ ก็บอกไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่เป็นของเกษตรจังหวัด หันไปหารัฐมนตรี ก็ยังเห็นไปทางภาคใต้ได้ไม่กลัว แต่ทีภาคเหนือไม่เคยมีอันตรายกลับไม่มาดูกันเลย ปล่อยให้นายทุนเอาลำไยราคาถูกจากชาวบ้านไปอบขายได้กำไรกิโลกรัมละนับร้อยๆ บาท
“ดังนั้น ถ้าเราเลือกแล้วเป็นของเรา แต่กลับไม่ช่วยเหลือเราก็จงไปเสีย พวกเราไม่รู้จะเอาไว้เพื่อประโยชน์อะไร เพราะเป้าหมายที่เลือกก็เพื่อให้ช่วยเกษตรกร”
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะที่มีการชุมนุมกันนั้นการจราจรบริเวณถนนทางเข้าออกศาลากลางฯ ติดขัดอย่างหนัก นายสุรชัย ลิ้นทอง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เชิญตัวแทนชาวบ้าน เช่น นายสมิง นายจิรายุ เผ่ากา อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ฯลฯ ไปเจรจา โดยได้ข้อยุติว่าทางจังหวัดจะมีหนังสือไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาล อบต.หรือ อบจ.เชียราย ให้จัดสรรงบประมาณท้องถิ่นออกไปชดเชยราคาที่ขาดไปจากที่พ่อค้ารับซื้อ เช่น กรณีเกรดเอเอ พ่อค้ารับซื้อกิโลกรัมละ 17 บาท ก็ให้ อปท.ชดเชยให้อีก 3 บาทเพื่อให้ได้ราคาตามที่ชาวบ้านต้องการ
จากนั้นกลุ่มแกนนำได้ไปเจรจากับชาวบ้านแต่เกิดปัญหาเล็กน้อยเรื่อง การบริหารจัดการ เนื่องจากชาวบ้านต้องการให้ไปรับซื้อถึงหมู่บ้าน และไม่ต้องการให้มีปัญหาเรื่องการซื้อขาย ซึ่งทางนายสุรชัย และแกนนำได้ใช้เวลาในการอธิบายอยู่พักใหญ่ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพอใจ แยกย้ายกันกลับและเปิดถนนให้การจราจรเป็นปกติ
นายสุรชัยกล่าวว่า จะดำเนินการให้ อปท.เข้ารับซื้อจากชาวบ้านได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 55 นี้เป็นต้นไป แต่ถือเป็นมาตรการชั่วคราว โดยให้แต่ละ อปท.ไปตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อดูแลชาวบ้านที่เป็นคนในพื้นที่จริงๆ และเปิดจุดรับซื้ออิงกับประกาศของสำนักงานการค้าภายในจังหวัดที่ตรวจสอบราคา ปัจจุบันแต่ละพื้นที่อยู่ จากนั้นก็อาศัยประกาศนั้นในการรับซื้อต่อไป
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ