จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ม.หอการค้าไทย เชื่อโครงการจำนำข้าว ทำไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวปีนี้ เหตุรัฐบาลไม่มีแผนการตลาดที่ชัดเจน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวระหว่างการแถลงข่าวผลสำรวจทัศนะต่อนโยบายการรับจำนำข้าว และมันสำปะหลังของรัฐบาล ที่สำรวจจากกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างทั่วประเทศ 2,400 รายว่า นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิด มองในแง่วิชาการ สามารถยกระดับราคาได้จริง เช่นข้าว ราคาก่อนรับจำนำอยู่ที่เฉลี่ยตันละ 9,000 บาท แต่หลังรับจำนำราคาเฉลี่ยตันละ 10,500 บาท
ส่วนมันสำปะหลังราคาล่าสุดเดือนพ.ค.-มิ.ย.กิโลกรัม(กก.)ละเกือบ 3 บาท จากก่อนจำนำที่กก.ละ 1 บาทกว่า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และรัฐบาลทำในเวลาเหมาะสม เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากน้ำท่วมปีก่อน กำลังซื้อหด จึงให้คะแนนจำนำข้าวที่ 8 และจำนำมันที่ 9 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรดำเนินนโยบายรับจำนำต่อเนื่องเพียง 3-5 ปี เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังเปราะบางจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก จากนั้นควรปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงคือ การลดต้นทุนการผลิต ที่เป็นปัญหาใหญ่ให้กับเกษตรกร
ขณะเดียวกันควรเร่งหาตลาดส่งออก โดยเฉพาะข้าว ที่ขณะนี้ภาคเอกชนส่งออกข้าวได้ดลลง เพราะอินเดียกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งในปริมาณมาก และราคาต่ำ ส่งผลให้เวียดนาม ต้องลดราคาขายลงมาเพื่อให้แข่งขันได้ แต่ผู้ส่งออกไทย ไม่สามารถลดราคาขายได้ เพราะต้นทุนราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งมาก
นายธนวรรธน์ เชื่อว่า ปีนี้ไทยจะเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกให้กับอินเดียอย่างแน่นอน ส่วนอันดับ 2 คือเวียดนาม สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าอินเดียจะส่งออกข้าวในปีนี้ได้มากถึง 8 ล้านตัน เวียดนาม 7 ล้านตัน และไทย 6.5 ล้านตันสำหรับการส่งออกจากภาคเอกชน แต่ปีหน้าสหรัฐฯคาดว่า ไทยจะทวงแชมป์คืนมาได้ด้วยปริมาณส่งออกที่ 8 ล้านตัน เวียดนาม 7 ล้านตัน และอินเดีย 6 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นห่วงว่า อีก 10 ปีข้างหน้า อาชีพชาวนาจะหมดไป เพราะปัจจุบัน อายุเฉลี่ยชาวนาไทยอยู่ที่ประมาณ 50 ปี และยังมีเวลาเหลือทำนาได้อีก 10 ปี ขณะที่ลูกหลานไม่ทำนาต่อแล้ว เพราะได้เงินน้อย เหนื่อย และขายที่ดินเพื่อทำบ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ หากระหว่างนี้ รัฐบาลไม่เร่งสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพชาวนา ก็อาจทำให้ประเทศไทยเสี่ยงจะเกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหารขึ้นได้
"เทียบสัดส่วนกำไรของชาวนาที่ 25% แม้จะมากกว่าโรงสีที่มีกำไร 3-5% และผู้ส่งออกมีกำไร 1% เท่านั้น แต่ชาวนามีพื้นที่ปลูกน้อยทำให้รายได้รวมไม่สูง ไม่รวย ลูกหลานจึงไม่ทำต่อ แต่ผู้ส่งออกและโรงสีมีข้าวมากกำไรมาก จึงร่ำรวยได้"
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจทัศนะต่อนโยบายการรับจำนำข้าว และมันสำปะหลังของรัฐบาล ที่สำรวจจากกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างทั่วประเทศ 2,400 ราย พบว่า ชาวนาส่วนใหญ่ 84.3%เคยร่วมโครงการรับจำนำ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่40.3%ให้เหตุผลที่ร่วมโครงการเพราะเป็นโครงการของรัฐบาล และ37%เพราะได้รับเงินมากกว่าการขายทางการค้าปกติ
ผู้ตอบส่วนใหญ่ 69.8% ระบุพอใจปานกลาง เพราะทำให้มีรายได้มากขึ้น มีเงินออกมากขึ้น เป็นหนี้ลดลง มีกำลังซื้อสินค้าและวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรได้มากขึ้น ดังนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินโนยายนี้ต่อไป หากในอนาคตรัฐบาลมีโครงการรับจำนำอีก ผู้ตอบ 80.3% ระบุจะเข้าร่วมแน่นอน มีเพียง 6.2% ที่ไม่เข้าร่วม และอีก 13.6% ระบุไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะมีโครงการรับจำนำอีก ผู้ตอบ 72.3% ระบุพอใจกับระดับราคารับจำนำในปัจจุบัน ที่ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท แต่มีผู้ตอบอีก 27.7% ระบุยังไม่พอใจ ต้องการให้เพิ่มเป็นเฉลี่ยตันละ 18,361.37 บาท ส่วนเมื่อถามว่าหากราคารับจำนำสูงขึ้นทำให้ข้าวไทยขายแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ รัฐบาลควรทำอย่างไร ผู้ตอบ 41% ระบุสร้างคุณภาพข้าวไทยให้แตกต่าง ส่วน 22.7% ระบุควบคุมต้นทุนการผลิต อีก 21.4% ระบุลดราคาลงยอมขาดทุน และอีก 8.1% ระบุยกเลิกการจำนำปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
เมื่อถามว่า ระเบียบขั้นตอนการรับจำนำข้าวเปิดโอกาสให้มีการทุจริตได้มากน้อยเพียงใด ผู้ตอบส่วนใหญ่ 45.3% ระบุปานกลาง อีก 16.4% ระบุมากถึงมากที่สุด และ27.7% ระบุน้อยถึงน้อยที่สุด
สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือ ควบคุมราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบทางการเกษตร และต้นทุนการเกษตร เพราะปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งจากราคาปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ราคาน้ำมัน ค่าแรง และค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นปัญหาสำคัญอันดับแรกของเกษตรกร
นอกจากนั้นควรดูแลและแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ, เพิ่มคุณภาพของเม็ดพันธุ์และผลผลิต, จัดสรรน้ำให้เพียงพอ, ดูแลราคาข้าวให้เหมาะสมกับต้นทุน, จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร และดูแลราคาอย่าต่อเนื่องไม่ให้ตกต่ำ
ส่วนนโยบายการรับจำนำมันสำปะหลังว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 81.6% ระบุพอใจระดับปานกลางถึงมาก เพราะมีรายได้มากขึ้น มีเงินออมมากขึ้น เป็นหนี้ลดลง มีกำลังซื้อสินค้า และวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรได้มากขึ้น ดังนั้นเห็นด้วยที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายนี้ต่อไป โดยผู้ตอบมากถึง 79.4% พร้อมเข้าร่วมในโครงการต่อไปแน่นอน มีเพียง 6% ไม่เข้าร่วม เพราะขายเองได้ราคาดีกว่า และอีก 14.5% ไม่แน่ใจ สำหรับราคารับจำนำที่ต้องการได้คือ เฉลี่ยที่กิโลกรัม (กก.) ละ 5.18 บาท จากราคาจำนำปัจจุบันที่ประมาณกก.ละ 3 บาท ส่วนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีข้าว
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ