จาก เดลินิวส์ออนไลน์
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลเขากระปุก นำแนวทางตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการแก้ปัญหาสาหร่ายบูม ในอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทำให้คุณภาพน้ำในอ่างฯดีขึ้นตามลำดับ
สาหร่ายบูม หมายถึง สาหร่ายเกิดการตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งซากสาหร่ายที่ตายนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสียอย่าง รุนแรง และสาหร่ายบางชนิดเมื่อเกิดการตายจะปล่อยสารพิษชนิดร้ายแรงลงสู่แหล่งน้ำ หากมนุษย์ไปสัมผัสน้ำดังกล่าว จะเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ปวดแสบปวดร้อน เกิดเป็นตุ่มแดง หรือหากประชาชนบริโภคน้ำที่มีการปนเปื้อนจากสารพิษในปริมาณมากพอก็อาจเกิด อาการคลื่นไส้อาเจียน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ท้องร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอ่อนเพลียง่าย
นอกจากนี้ยังทำให้มีค่าปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดต่ำลง เป็นเหตุให้กุ้ง ปลา และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำฯ ตายหมด กระทบถึงการชลประทาน การเพาะปลูก และการประมงอีกด้วย
ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ทำการศึกษา วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 5 วิธี คือ 1. การเพิ่มปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำอีก 2.5 แสนลูกบาศก์เมตร ปรากฏว่าไม่มีผลต่อคุณภาพน้ำแต่อย่างใด 2. การใช้วิธีเคมีบำบัด ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ผล แต่มีต้นทุนค่อนข้างสูง 3. การใช้หญ้าแฝก เพื่อทำหน้าที่กั้นการชะล้างธาตุอาหารหรือปุ๋ยจากการเกษตรไม่ให้ไหลลงอ่าง เก็บน้ำ 4. การใช้ผักลอยน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด เป็นต้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้มีธาตุอาหารละลายอยู่ในน้ำมากเกินไป และ 5. การเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาแรด ปลาตะเพียน เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยให้ปลากินสาหร่าย เพื่อไม่ให้สาหร่ายมีพิษเจริญเติบโตได้
ทั้งนี้ผลการวิจัยพบว่า วิธีที่ 3-5 ซึ่งเป็นวิธีตามแนวทางพระราชดำริ ที่บำบัดโดยธรรมชาติ และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่ได้ผลดีที่สุด สามารถลดปัญหาคุณภาพน้ำเนื่องจากสาหร่ายมีพิษเกิดการบูมในอ่างเก็บน้ำห้วย สงสัย ได้อย่างน่าพอใจ และที่สำคัญใช้ต้นทุนต่ำ ประหยัดงบประมาณ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเขากระปุก จะนำแนวทางการแก้ปัญหาตาม พระราชดำริดังกล่าว ไปเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน และขยายผลต่อไปในอนาคต.
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก