จาก คมชัดลึกออนไลน์
ลด ใช้ซ้ำ ทำใหม่ 'ถุงพลาสติก' หนทางสู่การลดขยะ ลดโลกร้อน : คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง : โดย ... บัญญัติ คำนูณวัฒน์
“เพราะโลกร้อนขึ้น” คำฮิตติดปาก ที่เรามักจะพูดกันเวลาที่ต้องเจอกับภัยพิบัติต่างๆ หรือสภาพภูมิอากาศแปรปรวนไม่เป็นไปตามฤดูกาล การที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ว่ากันว่าต้นตอของปัญหานอกจากจะเกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน สารซีเอฟซี ฯลฯ ที่ล้วนแล้วเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของเรา เช่น การเผาไหม้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ในรถยนต์ การใช้งานโดยมีการเผาไหม้ของถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การใช้สารหล่อเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ แล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่า ถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
“ถุงพลาสติก” ครั้งหนึ่งเคยเป็นฮีโร่ช่วยตอบโจทย์ลดการใช้ถุงกระดาษ ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าที่เอาเยื่อมาทำกระดาษ แต่มาวันนี้ ถุงพลาสติกใบเล็กๆ กลายเป็นตัวการที่สร้างปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อม เพราะนับวันจะมีปริมาณการใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีอายุการใช้งานสั้น พร้อมเป็นขยะทันทีหลังจากที่ใช้เสร็จ แต่กว่าจะย่อยสลายได้กลับต้องใช้เวลาถึง 450 ปี ใช้พลังงานในการผลิตและรีไซเคิลสูง เคยมีการคำนวณว่าในกระบวนการผลิตถุงพลาสติกเพียง 9 ใบ สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงให้รถวิ่งได้ไกลถึง 1 กิโลเมตร หากนำไปฝังกลบย่อยสลายรวมกับขยะอื่นๆ ก็จะเกิดความร้อนออกมา และปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอีกชนิดหนึ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หากนำไปเผา ก็จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอีกเช่นกัน ทำให้โลกร้อนขึ้น แถมยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแพร่กระจายเชื้อโรค
แม้ว่าเรื่องนี้จะมีการพูดกันมาสักพักแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยได้ผลนัก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ยังคงต้องพูดถึงกันต่อไป จริงๆ แล้ววิธีการง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้เลยก็คือ ทำตามหลัก 3 อาร์ “ลด ใช้ซ้ำ ทำใหม่”
“ลด” หรือที่เรียกว่า “รีดิวซ์” หากเราซื้อสินค้าชิ้นเล็กๆ เพียงแค่ชิ้นสองชิ้นก็ให้บอกพนักงานขายว่า ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก หรือถ้าซื้อของเป็นจำนวนมากก็ลองหาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ทดแทนถุงพลาสติกได้ เช่น ถุงที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์และย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ถุงผ้า ฯลฯ เท่านี้ก็สามารถช่วยลดการเพิ่มปริมาณขยะจากถุงพลาสติกได้แล้ว
“ใช้ซ้ำ” หรือที่เรียกว่า “รียูส” กรณีที่ไปซื้อของมากชิ้นหน่อยอาจมีความจำเป็นรับถุงพลาสติกมาใส่ของกลับบ้าน หลังใช้เสร็จอย่าเพิ่งทิ้ง ให้นำกลับมาใช้งานใหม่จนสภาพไม่สามารถใช้งานต่อไปได้อีก แล้วนำไปประยุกต์ด้วยการประดิษฐ์เป็นข้าวของเครื่องใช้อย่างอื่น เช่น แจกันใส่ดอกไม้ ที่ใส่อุปกรณ์เครื่องเขียนวางบนโต๊หนังสือหรือโต๊ะทำงาน ฯลฯ นอกจากเราจะช่วยลดขยะแล้ว เรายังได้สิ่งประดิษฐ์จากถุงพลาสติกที่มีสีสัน แปลกใหม่ ไม่เหมือนใครอีกด้วย
“ทำใหม่” หรือที่เรียกว่า “รีไซเคิล” รวบรวมถุงพลาสติกและสิ่งประดิษฐ์จากถุงพลาสติกที่ใช้งานซ้ำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ส่งไปรีไซเคิล เพื่อผลิตออกมาเป็นวัสดุรีไซเคิลประเภทต่างๆ หากใครพอมีฝีมือก็ให้ลองนำวัสดุรีไซเคิลมาประดิษฐ์เป็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว หรือใครพอมีหัวหน่อยก็ลองนำไปขาย เป็นการสร้างรายได้ให้กับตัวเองอีกทางหนึ่ง หรือใครไม่มีฝีมือทางด้านนี้ก็ลองหันมาร่วมกันอุดหนุนสินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลกัน
หากวันนี้ เราเริ่มต้นใช้ถุงพลาสติกอย่างมีความรับผิดชอบจากตัวเราก่อน ก็จะสามารถเป็นแบบอย่างให้คนรอบข้างเห็นและทำตาม สร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคม นอกจากจะช่วยลดโลกร้อน ลดการเกิดภัยธรรมชาติ ลดขยะให้กับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ต้นทุนการทำลายถุงพลาสติก ต้นทุนการรักษาและฟื้นฟูเยียวยาหลังจากเกิดภัยธรรมชาติหรือภัยิบัติต่างๆ ที่เป็นผลมาจากปริมาณการใช้ถุงพลาสติกเป็นจำนวนมากให้กับประเทศของเราได้อีกด้วย จะได้มีเงินไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ให้ลูกหลานของเราต่อไป ไม่ใช่ทิ้งขยะพลาสติกเอาไว้ให้เป็นมรดก
----------
(หมายเหตุ : ลด ใช้ซ้ำ ทำใหม่ 'ถุงพลาสติก' หนทางสู่การลดขยะ ลดโลกร้อน : คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง : โดย ... บัญญัติ คำนูณวัฒน์)
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ไม้,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก