สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรมชลจัดการน้ำตามมติ กยน. แต่พร้อมปรับแผนให้เหมาะสม

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การระบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังระบายน้ำตามแผนการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและแผนบริหารจัดการน้ำ ของประเทศประจำปี 2555 ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) กล่าวคือ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำคงเหลือร้อยละ 45 หรือ 6,044 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำคงเหลือร้อยละ 45 หรือ 4,242 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่เหลือร้อยละ 45 ดังกล่าวจะเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงในปี 2555 และที่สำคัญยังจะทำให้มีพื้นที่ว่างในอ่างเก็บน้ำเพียงพอที่จะรองรับปริมาณ น้ำฝนที่ตกในช่วงฤดูน้ำหลากของปีนี้ โดยไม่มีปัญหาน้ำล้นอ่างลงมาท่วมพื้นที่ด้านท้ายดังเช่นปี 2554

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์น้ำเปลี่ยนแปลงไป กรมชลประทานอาจจะเสนอ กยน.ให้มีการทบทวนแผนบริการจัดการน้ำใหม่ได้ตามความเหมาะสม

ส่วนมาตรการป้องกันไม่ให้วิกฤติมหาอุทกภัยเกิดขึ้นอีกนั้น ปีนี้ได้มีการเตรียมพร้อมในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยในส่วนของต้นน้ำได้มีการวางแผนพร่องน้ำในเขื่อนหลัก อาทิ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ให้เหลือน้ำต้นทุนอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับสภาวะน้ำท่วม ภัยแล้งและการใช้น้ำทุกกิจกรรมจากเขื่อน และเขื่อนอื่น ๆ ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสมเช่นกัน เมื่อฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อนจะสามารถเก็บน้ำไว้ได้อย่างเต็มที่ ส่วนพื้นที่กลางน้ำได้มีการหารือในระดับจังหวัด และท้องถิ่น กำหนดพื้นที่รับน้ำนองหรือแก้มลิงเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ฝนที่ตกท้ายเขื่อนไหลเข้าไปกักเก็บไว้ในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงเวลา ที่เหมาะสม

สำหรับพื้นที่ปลายน้ำ ได้มีการกำหนดแนวทางการระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด  โดยทำการขุดลอกคูคลองต่าง ๆ กำจัดวัชพืช  กำหนดแนวพื้นที่ฟลัดเวย์ พร้อมทั้งได้มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำเป็นชั้น ๆ โดยชั้นในสุดก่อนน้ำจะเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้มีการปรับปรุงเส้นทางการก่อสร้างคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริฝั่งตะวันออก ใหม่ โดยจะก่อสร้างสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554 ประมาณ 50 เซนติเมตร ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า หากปริมาณน้ำในปี 2555  เท่ากับปี 2554  น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงกลายเป็นมหาอุทกภัยอย่างปี 2554 แน่นอน.


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags :

view