จาก เทคโนโลยีชาวบ้าน
หามาให้รู้
อรรถพล ปวัตน์รัตนภูมิ
กรมการข้าว เร่งรับรองพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ และข้าวน้ำลึก กู้วิกฤตน้ำท่วม
จาก เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง เพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนและทรัพย์สินแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวที่เสียหายเกือบ 10 ล้านไร่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวนาที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางเป็น จำนวนมาก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานั้น ปัญหาสภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้เกิดพายุฝนตกหนัก และอุทกภัยอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่
อย่าง ไรก็ตาม จากการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนเกาะหนองโสน มีแม่น้ำล้อมรอบ ความเป็นเกาะของพระนครศรีอยุธยา เห็นได้จากภูมิประเทศที่มีแม่น้ำไหลมาบรรจบกัน ดังนี้
1. แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลลงมาจากทิศเหนือ อ้อมเกาะด้านทิศตะวันตก แล้ววกลงทิศใต้
2. แม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสัก ไหลมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วแยกไหลอ้อมเกาะด้านทิศเหนือ และด้านทิศตะวันออกวกลงทางทิศใต้ ไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาจากทิศตะวันตก ไปลงอ่าวไทย
เมื่อมี แม่น้ำ 3 สาย ไหลมาบรรจบกันที่พระนครศรีอยุธยา ทำให้น้ำ 3 ทิศทางมารวมศูนย์อยู่ที่เดียวกัน ย่อมมีปริมาณน้ำมากกว่าบริเวณอื่น จึงทำให้บริเวณพ้นเกาะเมืองออกไปโดยรอบ เป็นทุ่งนาที่ราบลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมเหมือนแก้มลิงธรรมชาติมาแต่ก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา คนโบราณใช้ทำนาปลูกข้าวหนีน้ำ ซึ่งทุ่งนาทางทิศตะวันออกเดิมเรียกกันทั่วไปว่า ทุ่งหลวง แปลว่า ทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล เป็นแหล่งปลูกข้าวพันธุ์หนีน้ำมาแต่โบราณกาล เพราะมีน้ำท่วมมากกว่าที่อื่นๆ ต้องใช้พันธุ์ข้าวพิเศษที่ทนน้ำท่วมขังได้นาน
จากประเด็นดังกล่าวนี้ ได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมการ ข้าว ทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อหาพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกในพื้นที่น้ำท่วม เช่นเมื่อครั้งอดีต เพื่อนำมาปลูกในพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถทำนาได้และท้องนาไม่เกิดความเสียหายในช่วงฤดูน้ำ หลาก หรือในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก
คุณชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ในปัจจุบัน กรมการข้าวได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา และศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ดำเนินการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังได้มีการศึกษาพื้นที่น้ำท่วม และเก็บข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมไม่เกิน 1 เมตร ก็จะส่งเสริมให้ปลูกข้าวน้ำลึก ซึ่งหมายถึงต้นข้าวที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีและยังคงให้ผลผลิตสูง เมื่อปลูกในสภาพน้ำลึก ตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตร มีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือ มีความสามารถทนน้ำท่วม ประมาณ 7-10 วัน เช่น พันธุ์ กข 45 อยุธยา 1 ปราจีนบุรี 2 เป็นต้น ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการรับรองว่า สามารถทนน้ำท่วมได้ดี โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ กข 45 เป็นข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ของไทย ที่ปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี เป็นข้าวไม่ไวแสง สามารถปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี เมล็ดข้าวมีความนุ่มและหอมใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และยังเหมาะสมที่จะแปรรูปเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น การนำข้าว กข 45 มาทำข้าวเจ้าแก้ว ซึ่งเป็นขนมไทยรสชาติดี ทำได้ง่าย มีต้นทุน ถ้วยละ 50 สตางค์ เหมาะแก่การผลิตขายในระดับครัวเรือน นอกจากนี้ ยังนำมาทำอาหารญี่ปุ่น เช่น ซูชิ หรือข้าวปั้น ได้อีกด้วย มีความหอมและความนุ่มใกล้เคียงกับข้าวญี่ปุ่นมาก แต่มีต้นทุนเพียง ชิ้นละ 1.50 บาท เท่านั้น
ส่วนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมลึก 1-3 เมตร ก็จะส่งเสริมให้ปลูกข้าวขึ้นน้ำ หมายถึง ข้าวที่ปลูกในนาที่มีน้ำท่วมขังระดับน้ำลึก ตั้งแต่ 1-5 เมตร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน ปลูกโดยการหว่านเมล็ด ลักษณะพิเศษของข้าวขึ้นน้ำคือ มีความสามารถในการยืดปล้องให้ยาวออกไปเพื่อหนีน้ำ การแตกแขนงและรากที่ข้อเหนือผิวดิน ความสามารถอยู่รอดในสภาพจมน้ำ และการชูรวงให้ตั้งชันเหนือผิวน้ำได้ดีตามการเพิ่มของระดับน้ำในนา เป็นพันธุ์ข้าวที่ต้องการช่วงแสงหรือช่วงระยะเวลากลางวันสั้น เพื่อเปลี่ยนการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ มาเป็นการเจริญสืบพันธุ์เพื่อสร้างช่อดอกและเมล็ด พันธุ์ข้าวชนิดนี้จะกำเนิดช่อดอกเมื่อมีช่วงแสงสั้นกว่า 12 ชั่วโมง ความต้องการช่วงแสงของข้าวแต่ละพันธุ์จะแตกต่างกัน จึงทำให้พันธุ์ข้าวออกดอกไม่พร้อมกัน เช่น พันธุ์พลายงามปราจีนบุรี ซึ่งมีความสูงที่เคยเก็บไว้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 คือ 4.10 เมตร ในระดับน้ำสูงสุด 3 เมตร
สำหรับการดำเนินการใน ปี 2555 กรมการข้าวจะรับรองพันธุ์ข้าวหอมมะลิทนน้ำท่วมฉับพลัน และข้าวเจ้าสายพันธุ์ ขาวบ้านนา 432 ซึ่งข้าวหอมมะลิทนน้ำท่วมฉับพลัน (สายพันธุ์ RGDU99003-1012-B-2-6-B) เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าหอมไวต่อช่วงแสง มีลำต้นสูง 155 เซนติเมตร ทรงกอแบะเหมือนขาวดอกมะลิ 105 คุณภาพการสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ด ให้ผลผลิตในสภาพนาน้ำฝนทั่วไปใกล้เคียงกับขาวดอกมะลิ 105
โดย มีลักษณะเด่น ดังนี้ 1. มีความทนน้ำท่วมฉับพลันในระยะเจริญเติบโตทางลำต้น คือ มีชีวิตรอดภายใต้สภาพจมอยู่ใต้น้ำได้ ราว 12-14 วัน และหลังน้ำลด สามารถฟื้นตัวและให้ผลผลิตได้ดีกว่าขาวดอกมะลิ 105 2. เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าหอมไวต่อช่วงแสง มีลักษณะทางการเกษตร อายุการเก็บเกี่ยว คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ เคมี และการหุงต้มรับประทาน ใกล้เคียงกับขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งจะแนะนำให้ปลูกในพื้นที่นาน้ำฝน ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาค เหนือตอนบน สำหรับข้าวเจ้าสายพันธุ์ ขาวบ้านนา 432 นั้น เป็นข้าวเจ้าขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง ลำต้นสูงประมาณ 220 เซนติเมตร ที่ระดับน้ำ 175 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับระดับน้ำ) ทรงกอแบะ ต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว ใบธงเป็นแนวนอน รวงยาว 32.0 เซนติเมตร คุณภาพการสีดี ท้องไข่มาก มีปริมาณอะมิโลสสูง (29.08 เปอร์เซ็นต์) โดยมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ ดังนี้
1. เป็นข้าวขึ้นน้ำที่ให้ผลผลิตสูง เฉลี่ย 449 กิโลกรัม ต่อไร่
2. สามารถขึ้นน้ำ และยืดปล้องได้ดี ปลูกได้ดีในนาน้ำลึก ที่มีระดับน้ำมากกว่า 100 เซนติเมตร
3. เมล็ดข้าวมีคุณสมบัติเหมาะกับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้น เช่น เส้นหมี่ และเส้นขนมจีน โดยเฉพาะเส้นหมี่ จะมีลักษณะเหนียวนุ่ม ซึ่งจะแนะนำให้ปลูกในพื้นที่นาน้ำลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร ท่วมขังเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1 เดือน ขึ้นไป มีช่วงการเก็บเกี่ยวกลางเดือนธันวาคม จึงเหมาะสมในพื้นที่น้ำลึก ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และนครนายก หรือสถานที่ที่มีนิเวศใกล้เคียงกัน
เกษตรกรผู้ที่สนใจ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา หมู่ที่ 2 ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 15210 โทรศัพท์ (035) 241-680 โทรสาร (035) 241-680 หรือ ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี 25150 โทรศัพท์ (037) 271-385 โทรสาร (037) 271-009 ได้ในวันและเวลาราชการ
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก