จาก เดลินิวส์ออนไลน์
จังหวัดหนองบัวลำภู มีพื้นที่ปลูกยางพารา ประมาณ 94,288 ไร่ พื้นที่กรีดยางพารา จำนวน 8,590 ไร่ (ที่มา สกย.หนองบัวลำภู) ในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง มีกระแสลมพัดที่แรง ประกอบกับแสงแดดที่แผดกล้า หรืออาจมีไฟไหม้สวนยางพารา เป็นเหตุให้ดินแห้งขาดความชุ่มชื้น ก่อผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืช
นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า ในช่วงนี้จึงนับเป็นช่วงสำคัญที่อาจสร้างความเสียหายแก่สวนยางพารา ได้หลาย ๆ สาเหตุ หากขาดการดูแลและจัดการที่ดีพอ ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรดูแลต้นสวนยางพารา โดยเฉพาะยางพาราที่ปลูกใหม่หรือต้นยังเล็ก เกิดความเสียหายจากภัยแล้ง
อยากขอแนะนำให้เกษตรกรควรปฏิบัติดังนี้
1. ให้คลุมต้นยางพารา เป็นวิธีการปฏิบัติที่จำเป็นต่อต้นยางอายุ 1-3 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปลูกยางพารา ในการเก็บรักษาความชื้นในดิน และทำให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตได้ดี โดยใช้วัสดุที่หาง่ายมีปริมาณมาก เช่นซากวัชพืช หญ้าคา ฟางข้าว โดยให้คลุมบริเวณโคนต้น ห่างจากต้นประมาณ 5-10 เซนติเมตร รัศมีคลุมรอบโคนต้นประมาณ 1 เมตร หนา 10 เซนติเมตร
2. ควรทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟลุกลามมาจากบริเวณข้างเคียงที่อยู่ติดกับสวน โดยการไถหรือขุดถากวัชพืชและเศษซากพืชออกเป็นแนวกว้าง ไม่ต่ำกว่า 3 เมตร รอบบริเวณสวนยางพารา
3. กำจัดวัชพืช ในบริเวณแถวยางพาราออกให้หมด ข้างละ 1 เมตร เป็นการป้องกันไฟ ถ้ากรณีเกิดไฟไหม้ไม่รุนแรง ขอแนะนำให้ใช้ปูนขาวผสมน้ำ อัตราส่วน 1:1 ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปทาลำต้น
4. ถ้าต้นยางพารามีรอยไหม้ เกิดจากเนื้อเยื่อส่วนนั้นได้รับแสงแดดเป็นเวลานานติดกันจนเสียหาย ต้นยางพาราอายุ 1-2 ปี เมื่อเข้าหน้าแล้ง ควรใช้ปูนขาวละลายน้ำทาบริเวณโคนต้นสูงจากพื้นดิน 1 เมตร หากเกษตรกรดูแลรักษาสวนยางพาราเป็นอย่างดี เอาใจใส่ หมั่นดูแล จะทำให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตดี ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ
5. การตัดแต่งกิ่ง ควรตัดแต่งกิ่งให้กับลำต้น ไม่ควรโน้มต้นยางลงมาเพื่อตัดแต่งกิ่ง เพราะอาจทำให้ต้นยางเสียหาย หลังตัดแต่งกิ่งแล้ว ควรใช้ปูนขาวหรือปูนแดงหรือสีทาบริเวณที่ตัด
การจัดการสวนยางพาราอย่างถูกต้องเหมาะสม และหมั่นตรวจตราดูแลสวนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลภัยแล้งหรือไฟไหม้ เหล่านี้อย่างได้ผล.
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก