สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาสามัญประจำบ้าน แผนโบราณ

จาก เทคโนโลยีชาวบ้าน

ไพบูลย์ แพงเงิน โทร. (081) 475-2503

สมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาสามัญประจำบ้าน (แผนโบราณ)

ใน ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้าน ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ได้กำหนดชื่อยาสามัญประจำบ้าน แผนโบราณ (หลายคนไม่ชอบ แต่อยากจะให้เรียกชื่อว่า "แพทย์แผนไทย" ก็ขอให้เข้าใจว่า คือ อย่างเดียวกัน) ไว้จำนวน 27 ตำรับ อันได้แก่ ยาหอมเทพจิตร, ยาหอมทิพโอสถ, ยามหานิลแท่งทอง, ยาเขียวหอม, ยาประสะกะเพรา, ยาเหลืองปิดสมุทร, ยาอำมฤควาที, ยาประสะมะแว้ง, ยาจันทน์ลีลา, ยาตรีหอม, ยาประสะจันทน์แดง, ยาหอมอินทจักร์, ยาประสะไพล, ยาหอมนวโกฐ, ยาวิลัมพยาใหญ่, ยาธาตุบรรจบ, ยาประสะกานพลู, ยาแสงหมึก, ยามันทธาตุ, ยาไฟประลัยกัลป์, ยาไฟห้ากอง, ยาประสะเจตพังคี, ยาธรณีสันฑะฆาต, ยาบำรุงโลหิต, ยาประสะเปราะใหญ่, ยามหาจักรใหญ่ และยาถ่าย โดยที่ยาเหล่านี้จะครอบคลุมการรักษาโรคลม บำรุงหัวใจ, แก้ไข้ กระหายน้ำ, แก้หัด อีสุกอีใส, แก้ตัวร้อน, ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ, ท้องเสีย, แก้ไอ ขับเสมหะ, แก้เด็กท้องผูก, แก้คลื่นเหียน อาเจียน ลมบาดทะจิต, แก้จุกเสียด ระดูไม่ปกติ และขับน้ำคาวปลา, แก้ธาตุไม่ปกติ แก้ปวดท้อง, แก้ปากเป็นแผล, ขับน้ำคาวปลาในเรือนไฟ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่, แก้กษัยจุกเสียด และแก้กษัยเส้น เถาดาน และท้องผูก ซึ่งต้องดูสรรพคุณเป็นรายตำรับไป

ยาสามัญประจำบ้านเหล่านี้ ถือว่าเป็นยาที่มีความปลอดภัยและมีโอกาสที่จะใช้กันบ่อยๆ ดังนั้น หากเราจะลองไปสำรวจกันดูว่า ในตำรับยาสามัญประจำบ้านดังกล่าวนี้ มีสมุนไพรตัวใดบ้างที่ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุส่วนประกอบ สมุนไพรชนิดใดใช้มากใช้บ่อย และชนิดใดใช้น้อย ก็คงจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจในเรื่องราวของการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร อยู่ไม่น้อย นี่เองจึงเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ กรุณาติดตามผู้เขียนมา...

ใน หนังสือ "เภสัชเวท กับ ตำรายาแผนโบราณ" ซึ่งจัดพิมพ์โดย "สถาบันการแพทย์แผนไทย" กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2539 ได้มีการศึกษาถึงเรื่องการใช้สมุนไพรในตำรับยาสามัญประจำบ้านดังกล่าว ที่ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะได้รวบรวมมาเล่าสู่กันฟังในสาระสำคัญๆ เพื่อท่านผู้อ่านจะได้ทราบว่า สมุนไพรชนิดใดมีการใช้มาก สมุนไพรชนิดใดมีการใช้น้อย อันจะเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้ที่ผลิตสมุนไพรแต่ละชนิดอีกด้วย ที่จะได้ทราบว่า ลู่ทางด้านการตลาดของสมุนไพรชนิดใด กว้างหรือแคบเพียงใด สมควรจะปลูกเพื่อขายหรือเพื่อการอนุรักษ์แค่ไหน เพียงไร?

สมุนไพรที่ นำมาใช้ในการปรุงยาทั้ง 27 ตำรับ มีด้วยกันทั้งสิ้น 199 ชนิด ที่ใช้ในตำรับยามากที่สุด ก็คือ 36 ตำรับ (จันทน์เทศ) รองลงมา 13 ตำรับ (กานพลู และโกฐสอ) ถัดมา 12 ตำรับ (โกฐเขมา เทียนขาว และเทียนดำ) 11 ตำรับ (กระวานขาว จันทน์แดง และดีปลี) และ 10 ตำรับ (ดีปลี พิกุล รากไคร้เครือ) จนที่มีความถี่ในการใช้น้อยที่สุด คือ 1 ตำรับ มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน

สมุนไพร ที่มีความถี่ในการใช้ 9 ตำรับ ได้แก่ การบูร โกฐจุฬาลัมพา โกฐเชียง เทียนแดง ผักชีลา และพริกไทย, 8 ตำรับ ได้แก่ โกฐหัวบัว เจตมูลเพลิงแดง เทียนข้าวเปลือก เปราะหอม สารภี, 7 ตำรับ ได้แก่ โกฐกระดูก โกฐพุงปลา น้ำประสานทอง (สะตุ) บัวหลวง สมอไทย, 6 ตำรับ ได้แก่ กระเทียม กฤษณา โกฐก้านพร้าว เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี พิมเสน สมุลแว้ง, 5 ตำรับ ได้แก่ ขมิ้นอ้อย ชะลูด ช้าพลู บอระเพ็ด มะขามป้อม มะลิ สมอพิเภก สะค้าน, 4 ตำรับ ได้แก่ ขิง หรือขิงแห้ง ชะมดเช็ด เทียนสัตตบุษย์ ฝาง แฝกหอม ใบพิมเสน มะกรูด ว่านน้ำ สารส้ม อบเชย, 2 ตำรับ ได้แก่ กระชาย กระดังงา กรุงเขมา (เครือหมาน้อย) ขมิ้นชัน ข่า ครั่ง โค (กระดูกเผา และดีวัว) จันทน์ขาว จำปา ตองแตก เถามวกแดง พญารากขาว เพกา มหาหิงคุ์ มะนาว ระย่อม ส้มเขียวหวาน ส้มป่อย สมอเทศ สมอดีงู สันพร้าหอม แสมทะเล หญ้านาง หมากผู้ หมากเมีย หมึกหอม แห้วหมู และที่มีใช้เพียงตำรับเดียว ได้แก่ กระจับ กระดาดขาว กระดาดแดง กระดูกกา กระดูกแพะ กระดูกเสือ กระทือ กระพังโหม กล้วยตีบ กลอย กำมะถันเหลือง กำยาน กำลังวัวเถลิง โกฐกักกรา ขมิ้นเครือ ข่าต้น ขี้กาขาว ขี้กาแดง ขี้เหล็ก ขี้อ้าย จันทน์ชะมด เจตพังคี แจง ชะมด ชันย้อย ซิก ดองดึง ดินประสิว ดีเกลือฝรั่ง ดีงูเห่า ดีหมูป่า ตานหม่อน เถามวกขาว เถาวัลย์เปรียง ทับทิม เทียนบ้าน เนระพูสี บัวขม บัวจงกลนี บัวเผื่อน บุก เบญกานี เบี้ยจั่น ปลาไหลเผือก ผักกระโฉม ผักชีล้อม ผักแพวแดง ไผ่ป่า พิษนาศน์ มหาสดำ มะกอก มะกา มะขาม มะคำดีควาย มะงั่ว มะปรางหวาน มะรุม มะแว้งเครือ มะแว้งต้น โมกมัน รงทอง ราชดัด เร่ว ลำพันแดง ลูกซัด ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง สน สนเทศ รากข้าวสาร (รากสลิด) ส้มจีน ส้มซ่า สมอทะเล ส้มโอ สวาด สะบ้ามอญ สัก สักขี ส้มป่อย สารพัดพิษ สีเสียดเทศ สีเสียดไทย สุรามฤต แสมสาร หญ้าตีนนก หญ้าไทร

สมุนไพรที่ ใช้เพียง 1 ตำรับ ยังไม่หมด ที่เหลือ ได้แก่ หว้า หวายตะค้า หอยกาบ หอยขม หอยแครง หอยจุ๊บแจง หอยตาวัว หอยนางรม หอยพิมพการัง หอยมุกข์ หอยสังข์ หัสคุณเทศ เหมือดคน แห้วไทย โหระพา อบเชยญวน และอบเชยเทศ

เมื่อตรวจ ทานดูดีๆ ปรากฏว่า ข้ามสมุนไพรที่มีใช้ 3 ตำรับไป ซึ่งก็ได้แก่ กระวาน กระลำพัก กะเพรา เกลือสินเธาว์ โกฐชฎามังสี โกฐน้ำเต้า คำไทย งูเหลือม (กระดูก และดีงูเหลือม) เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ ไพล และหัวหอม (หอมแดง)

สำหรับ กฤษณานั้น ตำราแพทย์แผนไทยมักจะเรียกกันในหลายๆ ชื่อ ได้แก่ ไม้กฤษณา เนื้อไม้หอม และเนื้อไม้ เป็นต้น สำหรับคนที่ไม่ได้ศึกษาความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาก่อน เมื่อเห็นตำรับยาระบุตัวยาว่า "เนื้อไม้" เข้า หลายคนก็จะงุนงง ไม่เข้าใจว่าท่านหมายถึงเนื้อไม้ชนิดไหน?

ยังมีตัวยาอีกอย่างหนึ่ง คือ ยาดำ (หรือยาดำสะตุ) ซึ่งเป็นยางของว่านหางจระเข้ชนิดหนึ่ง (ตำราบางเล่มอ้างว่า เป็นว่านหางจระเข้ชนิดต้นใหญ่พันธุ์แอฟริกา) ก็เป็นตัวยาที่น่าสนใจมาก ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเอามาเขียนถึงโดยละเอียดในบทความอีกชนิดหนึ่ง ที่จะมีการตีพิมพ์ต่อเนื่องกันไปกับบทความชิ้นนี้ (หรืออาจจะมีตีพิมพ์ไปก่อนก็ได้)

ปัจจุบันนี้ ในแต่ละปีประเทศไทยของเราต้องนำเข้าสมุนไพรจากต่างประเทศหลายสิบชนิด ไม่ว่าจะนำเขาจากจีน อินเดีย หรือประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุหลายประการด้วยกัน เช่น ขาดการส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างจริงจัง มีการลักลอบนำมาจากป่าสงวนฯ วัตถุดิบในป่าธรรมชาติมีปริมาณลดลง ขาดการศึกษาข้อมูลการผลิตอย่างจริงจัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการประสานงานกันทั้งในด้านการผลิตและการตลาด

จาก บทความ เรื่อง "สมุนไพรที่หายากและขาดแคลน" เขียนโดย "แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ" ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "การแพทย์แผนไทย สายใยแห่งชีวิตและวัฒนธรรม เล่ม 2" ปี พ.ศ. 2542 ได้ระบุว่า มีสมุนไพรที่ควรให้ความสนใจอยู่ 2 กลุ่ม คือ

1.สมุนไพรที่นำเข้าจาก ต่างประเทศและใช้บ่อย ได้แก่ โกฐกระดูก โกฐจุฬาลัมพา โกฐชฎามังษี หรือโกฐจุฬารส จันทน์เทศ จันทน์หอม ชะมดเชียง ชะเอมเทศ เทียนต่างๆ (เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนขาว เทียนแดง เทียนดำ เทียนเยาวภานี เทียนตากบ เทียนสัตตบุษ เทียนลวด เทียนเกล็ดหอย เทียนแกลบ เป็นต้น) โป๊ยกั้ก พิมเสน เมนทอล เกล็ดสะระแหน่ ยาดำ รงค์ทอง โสม อำพันทอง อบเชยญวน

2.สมุนไพร ที่หายากในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่ยังไม่ทราบถึงวิธีปลูกนอกป่าธรรมชาติ หรือปลูกได้แต่ขาดการส่งเสริม หรืออาจจะเป็นสมุนไพรที่เป็นสัตว์หายากและผิดกฎหมาย ได้แก่ กระวาน กฤษณา กานพลู กำยาน กระบือเจ็ดตัว ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ขี้กาแดง ขี้เหล็กเลือด เจตมูลเพลิงขาว เจตมูลเพลิงแดง ต่อไส้ (ราก) เถาวัลย์เปรียง ทะนงแดง ปวกหาด (ได้จากต้นมะหาด) พญาปล้องทอง (ประดงข้อ) ฝาง ฝ้ายแดง พิกุล พริกไทย มะกอกไทย มะกล่ำตาช้าง มะกล่ำตาหนู มหาละลาย ระย่อม เร่ว เลือดแรด (ต้น) ว่านกีบแรด ว่านชักมดลูก ว่านร่อนทอง สะค้าน สมุลแว้ง สลัดได สักขี ลำพันทั้งสอง อุ้มลูกดูหนัง (ยอป่า) สำรอง (พุงทะลาย) ดีหมี และโคคลาน เป็นต้น

การที่จะผลิตสมุนไพรเพื่อทดแทนการนำเข้าให้เป็นจริงได้ จำเป็นต้องอาศัยทั้งข้อมูล การประสานงานอย่างจริงจังและเกิดผลในทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง อันได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม ควรจะต้องเป็นแม่งานใหญ่

เรื่องราวของสมุนไพรที่มีโอกาสจะนำมาใช้ใน ตำรับยาแผนไทยบ่อยๆ ตลอดจนข้อมูลของสมุนไพรที่สมควรต้องช่วยกันผลิตชดเชยขึ้นภายในประเทศ โดยสรุปก็มีแต่เพียงแค่นี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องบ้าง

หากพวกเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในไม่ช้า สถานการณ์ด้านการผลิตสมุนไพรก็คงจะดีขึ้น การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศก็จะลดน้อยลงได้ในอนาคต สวัสดีครับ



แจ้งข่าวเพิ่มเติม

ตาม ที่ผู้เขียนได้เคยเรียนไว้ว่า ขณะนี้ทาง "สำนักพิมพ์มติชน" กำลังจัดพิมพ์บทความ เรื่อง "สมุนไพรใกล้บ้าน" ในรูปเล่มอยู่นั้น เดิมคาดว่าจะเสร็จและวางจำหน่ายได้ราวๆ สิ้นปี 2554 หรืออย่างช้าราวต้นปี 2555

บัดนี้ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดพิมพ์ว่า เนื่องจากเกิดปัญหาอันเนื่องจาก "มหาอุทกภัย" ปี 2554 ทำให้หนังสือดังกล่าวต้องล่าช้าไปจากกำหนดเดิม คาดว่าจะวางจำหน่ายได้ราวเดือนมีนาคม-เมษายน 2555

จึงขออภัยในความล่าช้ามา ณ โอกาสนี้ด้วย

ไพบูลย์ แพงเงิน

20 มกราคม 2555


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags :

view