สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก.วิทย์ส่งเทคโนโลยีถึงชาวบ้าน แปรรูปชาข้าวสาลี-น้ำหางไหลกำจัดศัตรูพืช

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 กระทรวงวิทย์ลงพื้นที่นำเทคโนโลยีสู่ชุมชน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านผาคับ พลิกฟื้นพื้นที่สีแดงเป็นแปลงปลูกข้าวสาลีอันดับ 1 ของประเทศ แม่บ้านรวมกลุ่มแปรรูปเป็นชาข้าวสาลีมีมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษด้วยเทคนิคสกัดสารจากหางไหลกำจัดศัตรูพืช พร้อมแก้ปัญหาหน่อไม้ปี๊บไม่ปลอดภัยให้ได้กินได้ไม่เป็นอันตราย
       
       นางมยุรี ผ่องผุดพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นำทีมคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูวิถีชาวบ้านในจังหวัดน่านและ ลำปาง ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉลิมพระเกียรติ และคลินิกเทคโนโลยี เมื่อปลายปีที่ผ่านมาโดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ติดตามไปด้วย
       
       พื้นที่แรกที่คณะเดินทางไปศึกษาดูงานคือหมู่บ้านผาคับ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งแต่เดิมคือพื้นที่สีแดงของคอมมิวนิสต์ ทว่าปัจจุบันเป็น 1 ใน 30 หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีประชาชนอาศัยอยู่กว่า 40 หลังคาเรือน และมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร ซึ่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น หอม กระเทียม ข้าวโพด และมะเขือเทศ แต่ผลผลิตที่ขึ้นชื่อที่สุดของที่นี่คือ ข้าวสาลี และชาข้าวสาลี
       
       นางศรีจันทร์ กุลาฝน ประธานกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชาข้าวสาลีบ้านผาคับ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีชาวบ้านผาคับปลูกข้าวบาร์เลย์เป็นพืชเศรษฐกิจตัวหลัก แต่ระยะหลังประสบปัญหาเอกชนยกเลิกการรับซื้อผลผลิต ทำให้ชาวบ้านต้องเลิกปลูกข้าวบาร์เลย์ จึงขาดรายได้ส่วนนั้นไป ต่อมา ดร.ปัทมา ศิริธัญญา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวสาลีเป็นพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้ เนื่องจากเป็นพืชที่เจริญเติบโตดีในพื้นที่อากาศหนาวและมีน้ำจำกัด ซึ่งปัจจุบันถือว่า อ.บ่อเกลือ เป็น 1 ใน 3 แหล่งผลิตข้าวสาลีที่ใหญ่ที่สุดในไทย
       
       นอกจากนั้นชาวบ้านผาคับยังได้รับการส่งเสริมการรวมกลุ่มแปร รูปผลิตภัณฑ์ชาข้าวสาลีตั้งแต่ปี 2549 ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง และลดปัญหาการว่างงานของชาวบ้านได้ส่วนหนึ่ง โดยในแต่ละปีกลุ่มเกษตรกรจะแบ่งเมล็ดข้าวสาลีประมาณ 300 กิโลกรัม ไว้สำหรับเพาะต้นอ่อนเพื่อทำชาข้าวลาสี ซึ่งช่วยสร้าง รายได้เพิ่มให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้ประมาณ 12,000 บาทต่อปี และผลการวิจัยระบุว่าชาข้าวสาลีมีฤทธิ์ต้านโรคเบาหวาน, ความดันโลหิต, มะเร็งลำไส้ มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
       
       อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ชาข้าวสาลีที่ผลิตได้จำหน่ายให้กับร้านภูฟ้าและเลมอนฟาร์มเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มแปรรูปมีแผนที่จะขยายตลาดผลิตภัณฑ์ชาข้าวสาลีให้เป็นที่แพร่หลาย มากยิ่งขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยทหารพัฒนาชุมชนเคลื่อนที่จำนวน 4 แสนบาท เพื่อสร้างโรงเรือนแปรรูปชาข้าวสาลีที่ได้มาตรฐานในปี 53 พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งจะช่วยให้มีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ชาข้าวสาลีมากขึ้น
       
       นอกจากนั้นชาวบ้านผาคับยังได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ภูฟ้าพัฒนาให้ ปลูกพืชหลังนาชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้กับครัวเรือน เช่น สตรอเบอรี่ มะเขือเทศสแน็กสลิม ข้าวโพดหวาน เป็นต้น อีกทั้งในอนาคตอันใกล้นี้ชาวบ้านผาคับจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงเกษตรที่มีทุ่งข้าวสาลีเป็นเอกลักษณ์
       
       หน่อไม้ปี๊บเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดน่าน แต่เนื่องจากการผลิตหน่อไม้ปี๊บในบางพื้นที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคและสารพิษ ได้หมด จนทำให้เกิดกรณีผู้บริโภคได้รับสารพิษจากการบริโภคหน่อไม้ปี๊บจนเสียชีวิต เมื่อหลายปีก่อน เป็นเหตุให้ชาวบ้านประสบปัญหาการผลิตหน่อไม้ปี๊บไม่ได้มาตรฐาน จนหลายรายต้องเลิกผลิตไป
       
       กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้สนับสนุน ผศ.มลิวรรณ์ กิจชัยเจริญ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.น่าน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหน่อไม้ปี๊บแบบเติมกรดให้แก่กลุ่ม วิสาหกิจชุมชนบ้านยู้ ต.จอมพระ อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยการเติมกรดมะนาวลงไปในหน่อไม้ปี๊บ และควบคุมค่าความเป็นกรดด่างที่ค่าพีเอชน้อยกว่า 4.5 ซึ่งช่วยยับยั้งไม่ให้สปอร์ของเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ที่ยังหลงเหลือจากการฆ่าเชื้อด้วยการต้มไม่ให้เจริญเติบโตได้อีก และไม่ก่อให้เกิดสารพิษโบทูลินัม จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านยู้ เป็นแหล่งผลิตหน่อไม้ปี๊บที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยาเพียงแห่งเดียวใน จ.น่าน
       
       ทางด้าน ผศ.สุมาฬี พรหมรุกขชาติ จากสถาบันวิจัยและฝึกอบรมเกษตรลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลงคลล้านนา หัวหน้าโครงการบ่มเพาะเกษตรกรผลิตผักปลอดสารพิษ ได้พัฒนาสารสกัดจากหางไหล 3 สูตร เพื่อเป็นสารชีวภาพกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรบ้านต้นยาง อ.เมือง จ.ลำปาง ปลูกต้นหางไหล เพื่อทำสารสกัดจากหางไหลใช้เอง หรือที่เรียกว่าโล่ติ๊น ซึ่งเกษตรกร สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงนำรากหางไหลมาทุบและแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน ในอัตราส่วนรากหางไหล 1 ขีด ต่อน้ำ 10 ลิตร แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ นำไปฉีดพ่นกำจัดศัตรูพืชในแปลงปลูกพืชผักแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ มีราคาสูง
       
       นายบุญธรรม เครือวิเสน ประธานกลุ่มผักปลอดสารพิษบ้านต้นยาง บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า กลุ่มผักปลอดสารพิษเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 49 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 21 คน มีพื้นที่ปลูกผักรวม 3 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง และถั่วฝักยาว ผลผลิตผักปลอดสารพิษส่วนหนึ่งส่งขายให้กับโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง, เทศบาล และส่วนหนึ่งจำหน่ายในท้องตลาดภายในชุมชน ซึ่งก็จำหน่ายหมดทุกวัน และขายได้ในราคาใกล้เคียงกับผักทั่วไปที่ใช้ยาฆ่าแมลง แม้จะดูไม่สวยงามเท่า แต่ปลอดภัยกว่า จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
       
       "เดิมทีเกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่เมื่อเปลี่ยนมา ใช้สารสกัดจากหางไหลตามที่ ผศ.สุมาฬี แนะนำ ก็ช่วยลดต้นทุนได้มาก ระบบนิเวศในแปลงผักก็ดีขึ้นกว่าตอนใช้สารเคมี ส่วนเกษตรกรเองก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องสูดดมหรือสัมผัสกับยาฆ่าแมลงโดยตรง" นายบุญธรรม เผย
       
       ผศ.สุมาฬี ยังบอกอีว่าโครงการนี้ มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรเป็นหลัก โดยการให้เกษตรกรลดใช้สารเคมี ส่วนผลผลิตก็จะจำหน่ายภายในชุมชน ให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง เพราะมีความปลอดภัยสูงกว่า นอกจากนี้ ผศ.สุมาฬี ยังได้พัฒนาชีวภัณฑ์อัดเม็ดจากเชื้อราสำหรับกำจัดโรคพืชด้วยชีววิธีอีกทาง หนึ่ง ซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีได้เช่นเดียวกัน ซึ่งในอนาคตจะส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกผักปลอดสารพิษกันเพิ่ม ขึ้น รวมทั้งเผยแพร่สู่เกษตรกรในจังหวัดอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงด้วย


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags :

view