จาก เดลินิวส์ออนไลน์
หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กปร. ได้จัดการประกวดเกษตรกรต้นแบบที่นำผลสำเร็จจากงานศึกษาทดลอง วิจัยของศูนย์ศึกษาฯ ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันจนประสบผลสำเร็จ
โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ คือ นายขวัญใจ แก้วหาวงศ์ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 8 มีนาคม 2555 ซึ่งสำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับ สำนักราชเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงบประมาณ จัดงานเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ
สิริกิติ์
นายขวัญใจ แก้วหาวงศ์ อยู่ที่หมู่ 6 บ้านเหล่านกยูง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เดิมมีอาชีพรับจ้าง ทำงานเหล็กโครงหลังคาบ้านนานถึง 15 ปีจนประสบกับปัญหาสุขภาพ จึงถูกเลิกจ้างและตกงาน จากนั้นก็ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร
“เริ่มจากการลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 3-5 ปี ปลูกอะไรก็ขาดทุน ครอบครัวก็เริ่มมีปัญหา หนี้สินเยอะ เพราะไม่มีความรู้ ตอนแรก ๆ ก็ทำนาอย่างเดียว อยากจะซื้ออะไร อยากจะไปเที่ยวที่ไหนก็ต้องขายข้าว สุดท้ายข้าวไม่พอกิน หลังจากได้เข้าไปศึกษาอบรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ จ.สกลนคร ก็มีความรู้มากขึ้นและได้ลองนำความรู้มาเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกโดยเริ่มต้น ด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน ทำตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมี มีต้นกล้วยก็นำมาสับ ๆ หมักทำปุ๋ย ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้” นายขวัญใจ กล่าว
ปัจจุบัน นายขวัญใจ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เอง มีบ่อแก๊สจากมูลวัวผสมมูลค้างคาวและเศษอาหาร ทำขึ้นมาง่าย ๆ แบบภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อใช้หุงต้มภายในครัวเรือน ทำปุ๋ยชีวภาพไม่ต้องพึ่งพิงปุ๋ยเคมี ใช้ ถั่ว แตง เศษอาหารประจำวันหมักทำปุ๋ย ปลูกอ้อยคั้นน้ำหวานและขายหน่อมีผู้มารับซื้อถึงบ้าน อ้อยคั้นน้ำหวานขายได้ลำละ 10 บาท ปลูกครั้งหนึ่งเก็บเกี่ยวได้ 3 ปี โดยตกแต่งอ้อยให้มีการแตกกอไปเรื่อย ๆ ใน 1 ไร่ ได้ผลผลิตถึง 4 ตัน สร้างเครื่องคั้นน้ำอ้อย เครื่องทำความสะอาดอ้อยตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ชานอ้อยและเศษอ้อยผลิตเป็นอาหารสัตว์ จะไม่มีส่วนไหนที่ทิ้งไป ทุกอย่างแปรสภาพเป็นเงินทั้งหมด
“ในพื้นที่ 20 ไร่ แบ่งเป็นทำนา 14 ไร่ ทำสวนปลูกไม้ผลและกล้วย 2 ไร่ ปลูกพืชอื่น ๆ เสริมอาทิ แตงกวา ฟักทอง ถั่วฝักยาว สร้างแหล่งน้ำในพื้นที่เพาะปลูกเลี้ยงปลาและกบในแหล่งน้ำ เลี้ยงไก่ดำภูพาน เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด ผลผลิตที่ได้นำไปขายในตัวเมืองสกลนครในช่วงแรก ๆ แต่ปัจจุบันมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ รายได้เฉลี่ยวันละ 400-500 บาท ช่วงที่ปลูกแตงจะได้ผลผลิตขายวันละ 1 คันรถกระบะ หน้าแล้งปลูกฟักทอง” นายขวัญใจ กล่าว
นายขวัญใจ เล่าต่อว่า การยึดหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้ง ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ ถ้าไม่สำเร็จจริง พระองค์จะไม่ตรัสก็คิดว่าอย่างนั้น แล้วจึงปฏิบัติตามก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ผล 100% แค่ 60% ก็พอ แต่ตอนนี้รายได้ดีขึ้น หนี้สินก็ไม่มี พี่น้องก็เยอะ ลูกหลานก็เยอะ คนก็รู้จักเยอะ
“แต่ก่อนผมเป็นคนไม่มีอะไร แต่ตอนนี้มีเพียงพอเพื่อการดำรงชีวิต มีกินมีใช้ และมีเก็บ ต่อจากนี้ก็จะตั้งใจที่จะทำเพื่อถวายในหลวง ณ วันนี้ความสุขความภาคภูมิใจอยู่ตรงนี้ และก็จะขยายองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ผู้อื่น ให้กว้างขวางมากขึ้น ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนก็จะดีขึ้น ความสำเร็จนี้นอกจากเป็นความสำเร็จของเราแล้ว ยังเป็นความสำเร็จที่สามารถทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้มีความสุขอีก ด้วย” นายขวัญใจ กล่าว.
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก