สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำเหนือหลาก 15 เขื่อนวิกฤต นับถอยหลังพื้นที่ กทม.-โซนตะวันออกจมน้ำ

จาก ประชาชาติธุรกิจ

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมอันเนื่องมาจากร่อง มรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ มีผลทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ ดินถล่ม ครอบคลุมกว่า 53 จังหวัดทั่วประเทศ

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่มในปีนี้ กระทรวงมหาดไทย ในฐานะศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องมีการปฏิบัติงานในลักษณะบูรณาการ (one stop service) ภายใต้หลักการ 2P2R ซึ่งหมายถึงการเตรียมการ (preparation) ด้านข้อมูลและแผน การสื่อสาร/ประชาสัมพันธ์, การเผชิญเหตุ (response) การจัดตั้งระบบ ICS หรือ Incident Command System กำหนดให้มีศูนย์สั่งการเพียงศูนย์เดียว, การฟื้นฟู (recovery) จัดลำดับความเร่งด่วนในการฟื้นฟู และการป้องกันระยะยาว (prevention) ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร

ประกอบกับในวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.บางระกำ-อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก และได้ มอบหมายนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ "บางระกำโมเดล" เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ด้วยการประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม

15 อ่างเก็บน้ำวิกฤตหนัก

ศูนย์ สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถลิ่ม (ศอส.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ 23 จังหวัด ประกอบด้วยสุโขทัย, พิจิตร, พิษณุโลก, นครสวรรค์, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, ชัยนาท, อุบลราชธานี, สิงห์บุรี, นครปฐม, สุพรรณบุรี, นนทบุรี, ฉะเชิงเทรา, อุทัยธานี, จันทบุรี, สระบุรี ฯลฯ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 221,134 ครัวเรือน 693,433 คน มีผู้เสียชีวิต 87 ราย

พื้นที่การ เกษตรคาดว่าจะเสียหาย 3,681,912 ไร่ ขณะที่พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์เสียหายจำนวนมากเช่นเดียวกัน แยกเป็นบ่อปลา 67,618 ไร่ กุ้ง/ปู/หอย 2,284 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 72,686 ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์มีสัตว์ได้รับผลกระทบรวม 2,794,246 ตัว (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

ส่วนสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางล่าสุด (ณ วันที่ 12 กันยายน) ปรากฏมีปริมาตรน้ำในอ่างรวมทั้งหมด 59,797 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างทั้งหมด มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างจำนวน 965.69 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจำนวน 245.51 ล้าน ลบ.ม.

โดยอ่างเก็บน้ำภูมิพลมี ปริมาตรน้ำในอ่าง 11,181 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่าง, อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง 9,060 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของความจุอ่าง, อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำในอ่าง 921 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของความจุอ่าง และอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง 615 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่าง

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่ง อื่น ๆ ที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า ร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาตรน้ำ 222 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่าง, แม่กวงอุดมธารา 249 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 95 ของความจุอ่าง, กิ่วคอหมา 139 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 82, ห้วยหลวง 132 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 98, น้ำอูน 543 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 104, น้ำพุง 148 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 90, ลำปาว 1,670 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 84, ลำพระเพลิง 92 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 84, ลำแซะ 228 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 83, ศรีนครินทร์ 14,604 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 82, หนองปลาไหล 157 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 96 และอ่างเก็บน้ำประแสร์ 247 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของ ความจุอ่าง

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ในขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศไม่สามารถรองรับน้ำได้อีก ต่อไป เนื่องจากปริมาตรน้ำในอ่างใกล้เคียงหรือเกินความจุอ่างแล้ว ส่งผลให้เกิดการเร่งระบายน้ำลงท้ายอ่างเข้าสู่ลำน้ำสาขาต่าง ๆ เกิดปัญหาน้ำท่วมกระจายในพื้นที่โดยรอบอย่างกว้างขวาง

กรุงเทพฯเฝ้าระวัง 24 ช.ม.

สำหรับ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯยังน่าเป็นห่วง จำเป็นต้อง เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งจากสถานการณ์น้ำหลากและปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องมาหลายวัน โดยขณะนี้ปริมาณฝนสูงถึง 1,752 มิลลิเมตร หรือ สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 52

ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา-พระราม 6 อยู่ที่ 3,745 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และปริมาณน้ำเฉลี่ยที่บางไทร 2,724 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในส่วนของระดับน้ำในเขื่อนปีนี้สูงกว่า ปีที่ผ่านมา โดยระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล จากเดิม 40% เพิ่มขึ้นเป็น 83% เขื่อนสิริกิติ์ จากเดิม 67% เพิ่มขึ้นเป็น 95% และเขื่อนป่าสักฯ จากเดิม 56% เพิ่มขึ้นเป็น 78%

"ทำให้บางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ที่เป็นที่ลุ่มต่ำและอยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ 13 เขต 27 ชุมชนน่าเป็นห่วง เช่น ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ มีย่านมีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก และพื้นที่โซนตะวันตก ในย่านตลิ่งชัน ฉิมพลี เป็นต้น"

การ ป้องกันน้ำท่วมตามแผนระยะสั้น กทม.ซื้อกระสอบทรายสำรองจำนวน 3-4 ล้านกระสอบ เพื่อนำมาวางริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีแนวป้องกันน้ำท่วม เช่น ย่านบางกอกน้อย สร้างเป็นแนวป้องกันให้มีความสูงระดับ 2.5 เมตรจากน้ำทำทะเลปานกลาง เป็นแนวป้องกันน้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือไหลบ่าเข้ามา

สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วม ที่ผ่านมา กทม.มีแผนจะก่อสร้างระยะทาง 77 กิโลเมตร สร้างเสร็จไปแล้ว 75.8 กิโลเมตร ยังเหลืออีก 1.2 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่เขตบางกอกน้อยและบริเวณท่าน้ำราชวงศ์ จะแล้วเสร็จในปี 2555 แนวป้องกันนี้จะสามารถรับน้ำได้ที่ระดับ 2.50 เมตร จากปัจจุบันที่ระดับปริมาณน้ำทั้งน้ำเหนือและทะเลหนุนอยู่ที่ 1.80 เมตร ซึ่งแนวป้องกันนี้ยังสามารถรับน้ำได้อยู่

นอกจากนี้ กทม.ยังได้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และกำลัง เจ้าหน้าที่ประจำประตูระบายน้ำกว่า 200 จุด รวมถึงจัด เจ้าหน้าที่จากหน่วยเบสท์ (หน่วยกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว) กว่า 700 นายไว้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนหากเกิดเหตุน้ำท่วมขึ้น

ทุ่มอีกพันล้านแก้น้ำท่วมยั่งยืน

ใน ระยะยาว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า กทม.ได้กำหนดกรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน และใช้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย นอกจากนี้ กทม.เตรียมจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำในอีก 3 พื้นที่เร่งด่วน เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว มูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) อุโมงค์ระบายรัชดาภิเษก-สุทธิสาร 2) อุโมงค์ระบายน้ำดอนเมือง และ 3) อุโมงค์สวนหลวง ร.9 โดยอุโมงค์จะผันน้ำจากจุดน้ำท่วม ระบายไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา

ด้าน นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.กล่าวว่า สำหรับงบประมาณ 1,000 ล้านบาทที่ผู้บริหาร กทม.เตรียมมาแก้ปัญหาน้ำท่วมยั่งยืน เช่น การซ่อมแซมบูรณะระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงถนนที่ได้รับความ เสียหายจากน้ำท่วมให้ได้มาตรฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2555 สำนักการระบายน้ำได้ของบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องสูบน้ำเพิ่ม

Tags :

view