จาก นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน
วัชรินทร์ เขจรวงศ์ singkhon101@gmail.com
สวนป่าเพื่ออนาคต บำเหน็จ บำนาญ ของ "จรรยา สมมาตย์" เกษตรกร อาจสามารถ ร้อยเอ็ด
วันนี้ คณะสื่อมวลชนจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางไปตามเส้นทางที่เขียวขจีตามท้องนาเมื่อคราหน้าฝน ในพื้นที่ภาคอีสาน
อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด มี 10 ตำบล 138 หมู่บ้าน อาชีพหลักคือ เกษตรกรรม
ปัจจุบัน มี คุณฐานวัฒน์ ธนโชคชัยอนันท์ เป็นนายอำเภอ
คุณ จรรยา สมมาตย์ เกษตรกรหัวไวใจสู้ วัย 43 ปี บ้านเลขที่ 112 หมู่ที่ 7 บ้านหนองม่วงส้ม ตำบลโหรา อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด โทร. (080) 179-4318 ภริยาคือ คุณกัลยา สมมาตย์ เป็นฝ่ายการตลาด นำสินค้าภาคการเกษตรออกขายที่ตลาดอำเภอเมืองสรวง ตลาดนัดอำเภออาจสามารถ มีบุตรธิดา 3 คน ลูกสาว 2 คน อายุ 19 ปี และ 15 ปี ลูกชายคนเล็ก 13 ปี กำลังศึกษาเล่าเรียนแบบไม่ขัดสน
เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวนี้มีลูกคนแรก นั่งคิดถึงอนาคตของลูก พ่อ-แม่เป็นเกษตรกร จะสร้างอนาคตอย่างไร พื้นที่ดิน 14 ไร่ "จัดรูปแบบไร่นาสวนผสมตามแนวพระราชดำริ" สมัยนั้น ท่าน "ธวัชชัย ฟักอังกูร" ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ท่านเดินทางมาตรวจเยี่ยมที่แปลงแห่งนี้ เป็นความภาคภูมิใจของเกษตรกร
คุณจรรยา กล่าวว่า พื้นที่ดิน 14 ไร่ จัดรูปแบบตาม 30:30:30:10 ขุดบ่อปลาขนาด 1 งาน 5 บ่อ ขนาด 1 ไร่ 1 บ่อ เลี้ยงปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน การเลี้ยงกบ สร้างบ่ออนุบาลลูกปลา รายได้ปีละ 20,000-25,000 บาท สร้างโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า นางรม ขนาด 3,000-4,000 ถุง/รุ่น ปีละ 2-3 รุ่น เก็บขายส่งตลาดทุกวัน การเลี้ยงเป็ดไข่ 60 ตัว ไก่พื้นเมือง 20-30 ตัว วัวพื้นเมือง 6 ตัว เป็นการสร้างองค์ประกอบของ "ไร่นาสวนผสมตามแนวพระราชดำริ" นาข้าว จำนวน 7 ไร่ ทำไว้ให้พอกิน หรือขายบ้างตามความจำเป็น สิ่งสำคัญตนเองยึดหลัก "มีความขยันอย่างฉลาด" มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนเกษตรกร ภายในไร่นาสวนผสมตามแนวพระราชดำริ ปลูกมะพร้าว 30 ต้น มะนาว 50 ต้น ตอนขายกิ่งละ 50 บาท ขายได้ทุกวัน ปีละ 200-250 กิ่ง น้อยหน่า 150 ต้น ไผ่เลี้ยง 150 กอ พืชผักสวนครัว ครบทุกชนิด ขิง ข่า ตะไคร้ ยี่หร่า หอม ปลูกรุ่นละ 1-2 ไร่ ผลผลิต 700-800 กิโลกรัม อายุ 40 วัน ขาย 50,000-60,000 บาท
ปี 2551 คุณนิพนธ์ พละชัย เกษตรอำเภออาจสามารถ เข้ามาประสานงานเรื่องการสร้างศูนย์เรียนรู้ "เกษตรพอเพียง" ศูนย์เรียนรู้ "หนึ่งไร่แก้จน" ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ครู กศน. อำเภออาจสามารถ พัฒนาการอำเภอ เดินทางเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง จากที่เคยพัฒนาตนโดยการศึกษาเรียนรู้จากเพื่อนเกษตรกร กลายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ของเกษตรกร ที่ศูนย์แห่งนี้มีการเพาะชำกล้าไม้เศรษฐกิจ มี มะพร้าว น้อยหน่า มะรุม ขนุน ชะอม แค กิ่งตอนมะนาว ต้นสังข์ ขายส่งราคา ตั้งแต่ 5 บาท ถึงราคา 50 บาท ได้รับการฝึกหัดจากนักวิชาการส่งเสริมเกษตร เป็นรายได้ปีละ 15,000-30,000 บาท สำนักงานเกษตรอำเภออาจสามารถ ที่เป็นศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ที่โด่งดัง ดีเด่นที่สุดของอำเภออาจสามารถ
ปี 2542 คุณจรรยา เล่าให้ฟังว่า ตนเองคิดถึงอนาคต การปลูกไม้ใช้สอย วันนี้เราดูแลเขา วันข้างหน้าเขาดูแลเรา พื้นที่ท้ายสวน ปลูกไม้ยืนต้น มะค่าโมง 500 ต้น ประดู่ 200 ต้น ยางนา 200 ต้น วันนี้ไม้ยืนต้นเหล่านี้ ขนาด 1 คนโอบ เพียง 10 ปีกว่า ตนอายุ 43 ปี หลายคนบอกว่าปลูกไว้ให้คนอื่นใช้คือ "กลัวตายก่อน" อีก 5-10 ปี สามารถใช้ประโยชน์ได้ ตัดขายราคาประมาณ 8,000-15,000 บาท/ต้น ในท้ายสวนประมาณ 1,000 ต้น ตนเองอายุยังไม่ถึง 60 ปี มองเห็น "เงินล้าน" วางกองไว้เป็นบำเหน็จ บำนาญของเกษตรกร
คุณนิพนธ์ พละชัย เกษตรอำเภออาจสามารถ กล่าวว่า วันนี้ การพัฒนาภาคการเกษตรคือปากท้องของเกษตรกร เป็นแหล่งอาหารของชุมชน ทำจากสิ่งเล็กๆ ไปถึงสิ่งใหญ่ "แบบยั่งยืน" ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน คุณวัชเรนทร์ ศิริมงคล เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้การสนับสนุน พร้อมดำเนินการตามนโยบาย คุณสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด
อำเภออาจสามารถ มีสิ่งดีๆ ที่จะเสนอมากมาย พร้อมเป็นแบบอย่างของเกษตรกรข้างเคียง หรือของเกษตรกรระดับประเทศ อาทิ "มหัศจรรย์มันหลังนา" หรือ "มะนาวเงินล้านแก้จน" หรือ "แตงร้านเงินล้าน" หรือ "หนึ่งไร่แก้จน" หรือ "เกษตรลุ่มน้ำชี" และ "ท่องเที่ยวเชิงเกษตรหนึ่งวันได้ลิ้มรสวัฒธรรม ผัก เนื้อปลา" คุณจรรยา สมมาตย์ เกษตรกรแบบอย่างของคนอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด จริงๆ สนใจติดต่อ โทร. (043) 599-066 พร้อมให้บริการอย่างเต็มใจครับ