สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดินและปุ๋ย

จาก นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

ผู้แต่ง

วว. ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ครบ 1 ล้านกระสอบ มีเงินหมุนเวียนในชุมชนทั่วประเทศกว่าพันล้านบาท

สถาบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินโครงการหมู่บ้านปุ๋ยอินทรีย์ วว. ทั่วประเทศ ประสบผลสำเร็จผลิตปุ๋ยอินทรีย์ครบ 1 ล้านกระสอบ หรือเท่ากับ 60,630 ตัน คิดเป็นเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นในชุมชนกว่า 1,200 ล้านบาท ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในรูปแบบหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยการลดรายจ่าย สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทรัพยากรในท้องถิ่น กระจายความเจริญ และฟื้นฟูทรัพยากรดินให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน

ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวชี้แจงว่า ความสำเร็จของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 1 ล้านกระสอบ ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากความสำเร็จของการดำเนินงาน 3 ด้านด้วยกัน คือ ด้านที่ 1 นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีให้มาก ขึ้น โดยการส่งเสริมให้สร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์กระจายทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสภาพดินและช่วยลดการสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าปุ๋ยเคมี ด้านที่ 2 ความสำเร็จของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งได้มอบหมายให้ วว. ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั่วประเทศ ช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงบูรณาการในส่วนของการคัดเลือกกลุ่ม เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ การควบคุมการก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การจัดสร้างเครื่องจักร และการติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ แก่กลุ่มเกษตรกรและการติดตามประเมินผลและการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้แก่ กลุ่มเกษตรกร โดยได้ก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรตั้งแต่ปี 2547-2551 รวมจำนวนทั้งสิ้น 317 โรง โดยใช้งบประมาณจำนวน 278.015 ล้านบาท เฉลี่ยงบประมาณ 0.887 ล้านบาท/โรง และ ด้านที่ 3 ความสำเร็จของกลุ่มเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 317 กลุ่ม ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน 2554) ซึ่งได้รับการฝึกอบรมเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การบำรุง รักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การบริหารจัดการ การจัดทำบัญชี และการตลาด ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจนกลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตปุ๋ย และสามารถดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองได้ อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายปุ๋ยให้แก่เกษตรกรทั้งในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง โดยเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ในปริมาณ 1,212,602 กระสอบ ซึ่งโรงปุ๋ยเหล่านี้เกษตรกรยังสามารถดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต่อไปทุกๆ ปี

รอง ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงผลกระทบจากการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ย อินทรีย์ว่า ผลประโยชน์ที่กลุ่มเกษตรกรได้รับจากการมีโรงปุ๋ยทุกๆ 1 ตันปุ๋ย กลุ่มจะมีรายได้จากการจำหน่ายมูลสัตว์ 1,500 บาท (มูลสัตว์ราคา 1.50 บาท/กิโลกรัม) รายได้จากการจำหน่ายปุ๋ย 3,000 บาท (กำไร 150 บาท/กระสอบ) รายได้จากการรับค่าแรง 1,500 บาท (ค่าแรง 75 บาท/กระสอบ) ชุมชนประหยัดเงินซื้อปุ๋ย 14,000 บาท (ราคาปุ๋ย วว. 600 บาท ราคาปุ๋ยเคมี 1,300 บาท) รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 20,000 บาท/1ตันปุ๋ย ดังนั้น หมู่บ้านปุ๋ยอินทรีย์ วว. ผลิตปุ๋ยได้ 1,212,602 กระสอบ หรือเท่ากับ 60,630 ตัน ทำให้หมู่บ้านปุ๋ยอินทรีย์ วว. มีเงินหมุนเวียนในชุมชนจำนวน 1,212 ล้านบาท โดยจังหวัดที่สามารถผลิตปุ๋ยได้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ซึ่งสามารถผลิตปุ๋ยได้ 162,605 กระสอบ 87,720 กระสอบ และ 87,301 กระสอบ ตามลำดับ

นอกจากนี้ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ยังมีผลกระทบที่ดีต่อ สังคม ในการเป็นรากฐานของชุมชนที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยลดการอพยพของเกษตรกรออกจากท้องถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง ส่งเสริมการมีงานทำขึ้นในชุมชนช่วงฤดูแล้งหรือนอกฤดูทำนา และส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการลงแขกขึ้นในชุมชนชนบท ทำให้ชุมชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมและทำงานเป็นทีมมากขึ้น รวมทั้งยังมีผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในการช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการ เลี้ยงสัตว์ภายในชุมชน ลดการสะสมของธาตุอาหารต่างๆ ที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีไหลลงสู่แม่น้ำ และช่วยการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ทรัพยากรดินมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ดร. สุริยา สาสนรักกิจ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษและรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. กล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จของหมู่บ้านปุ๋ยอินทรีย์ วว. ว่า เกิดจากความพร้อมใน 6 ด้าน คือ

1. มีประธานและสมาชิกที่มีศักยภาพและมีความต้องการผลิตปุ๋ย

2. มีเงินทุนหมุนเวียนและระดมหุ้นสมาชิกได้เพียงพอ

3. มีโรงเรือนเครื่องจักรอุปกรณ์และวัตถุดิบในชุมชน

4. มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

5. มีเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และ

6. มีระบบการตลาดที่ดี มีคุณภาพ

ทั้ง นี้ โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของ วว. มีจุดเด่น คือ ประกอบด้วย อาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ มีกำลังการผลิตปุ๋ยเหมาะสมกับชุมชน (100 ตัน/ปี) ใช้วัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยที่มีอยู่ในชุมชนเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำพวกมูลสัตว์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มีขั้นตอนและวิธีการผลิตที่ชัดเจน ง่าย ไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยใช้เองได้อย่างมีคุณภาพ สามารถผลิตปุ๋ยได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์เคมีตามมาตรฐานกรมวิชาการ เกษตร และผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเป็นที่ต้องการของชุมชนและตลาดผู้ใช้ปุ๋ยอยู่ในชุมชน

"...อย่าง ไรก็ตาม ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของหมู่บ้านปุ๋ยอินทรีย์ วว. เกิดจากการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาประยุกต์ใช้โดยการติดตามและดูแล แก้ปัญหากลุ่มอย่างใกล้ชิด มีการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การก่อสร้างโรงปุ๋ย การสนับสนุนเครื่องจักร การอบรมการผลิตปุ๋ย การอบรมการบริหารจัดการ และการซ่อมบำรุงเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตปุ๋ย นอกจากนี้ เรายังได้คัดเลือกกลุ่มที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับกลุ่มขึ้นเป็นหมู่บ้านแม่ ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้กลุ่มที่มีศักยภาพได้สร้างลูกข่ายให้เกิดเครือข่ายความเข้มแข็งขึ้น ในชุมชน�" ดร. สุริยา สาสนรักกิจ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่ม เติม หรือขอรับคำแนะนำปรึกษาด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ วว. ได้ที่ Call center วว. โทร. (02) 577-9300 หรือที่ ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. โทร. (02) 577-9000 โทรสาร (02) 577-9009 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ E-mail : tistr@tistr.or.th

Tags :

view