จาก โพสต์ทูเดย์
เอเอฟพี - สื่อทางการจีนรายงาน(21มิ.ย.)ว่า เนื้อหมูซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวจีน มีราคาแพงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้นกอปรกับการขาดแคลนเนื้อหมู ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อจีนพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
ไชน่า เดลี อ้างข้อมูลของเฟิง หยงฮุ่ย นักวิเคราะห์จากเว็บไซต์ Soozhu.com ซึ่งให้บริการข้อมูลตลาดเนื้อหมูว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเนื้อหมูมีราคากิโลกรัมละ 27.67 หยวน(ราว 130.74 บาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีราคาสูงสุดอยู่ที่ กิโลกรัมละ26 หยวน(ราว 122.85 บาท) ขณะเดียวกันราคาหมูเป็นก็เพิ่มขึ้นเท่ากับกิโลกรัมละ18.57 หยวน(ราว 87.74 บาท) ทุบสถิติราคาเดิมในปี 2552 ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 17.20 หยวน(ราว 81.27 บาท)
พร้อมเผยว่า “ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ราคาข้าวโพดได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นต่อเนื่องและการที่เนื้อหมู ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ชาวจีนนิยมบริโภค มีราคาแพงขึ้นอาจส่งผลให้ราคาพืชผักและผลผลิตการเกษตรต่างๆเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่บรรดาผู้บริโภคกำลังพิจารณาทางเลือกอื่นในการบริโภคเนื้อสัตว์”
หนังสือพิมพ์จีนอ้างคำกล่าวของ จู เป้าเหลียง นักเศรษฐศาสตร์ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติว่า “จนถึงสิ้นปีนี้(2554) ราคาเนื้อหมูจะพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง”
เหริน เสียนฟัง นักวิเคราะห์แห่งบริษัท IHS Global Insight กล่าวกับเอเอฟพีว่า “ราคาเนื้อหมูที่กำลังเพิ่มขึ้นอาจกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อในจีนให้รุนแรงขึ้น และทำให้ช่วงเวลาของราคาสินค้าที่พุ่งสูงมีความยาวนานมากขึ้น”
“เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าราคาเนื้อหมูมีความสัมพันธ์กับสภาวะเงิน เฟ้อในแต่ละครั้ง ฉันกังวลว่าในครั้งนี้ราคาเนื้อหมูจะพุ่งสูงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา”
นายจู เผยว่า “รัฐบาลจีนอาจพยายามควบคุมราคาเนื้อหมูที่พุ่งสูงขึ้นโดยการซับพลายเนื้อหมู สำรอง อย่างไรก็ตามการซับพลายเนื้อหมูสามารถทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากประสบภาวะขาดแคลนเนื้อหมู หลังจากปีที่ผ่านมา(2553)เกษตรกรจีนได้ฆ่าหมูเลี้ยงจำนวนมาก เนื่องจากเนื้อหมูมีราคาตกต่ำและเกิดโรคระบาด”
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 ว่า สภาวะเงินเฟ้อในจีนอันทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคพุ่งสูง เป็นปัญหาหลักที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญและเร่งแก้ก่อน
ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือค่าซีพีไอ ปรอทชี้วัดเงินเฟ้อของจีนในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเท่ากับ 5.5 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี สูงสุดในรอบ 3 ปี และห่างไกลกับเป้าหมายที่จีนตั้งไว้ที่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากราคาอาหารสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเกิดเหตุขาดแคลนพลังงานและปัญหาภัยแล้งสาหัสในบางพื้นที่
สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ราคาผลไม้และพืชผักในมณฑลเจ้อเจียงแพงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หลังจากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดพายุฝนกระหน่ำอย่างรุนแรงทำให้ผล ผลิตเสียหาย
รัฐบาลจีนได้พยายามอย่างหนักในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและสั่งให้ธนาคารสำรองเงินคงคลังไว้มากขึ้น พร้อมกับเข้มงวดการปล่อยกู้