จาก ประชาชาติธุรกิจ
ความต้องการกล้ายางสูงลิ่ว คนปลูกสุดเสี่ยงซื้อพันธุ์ยางด้อยคุณภาพเร่งปลูกทันฤดูฝนนี้ หวั่นลงทุนสูญเปล่า ต้องลุ้นผลผลิตอีก 7 ปี สกย. คาดแนวโน้มเกษตรกร 60% สละสิทธิไปปลูกยางปีหน้า รับภาระจ่ายส่วนต่างค่าซื้อกล้ายางไม่ไหว
ราคา กล้ายางพาราที่พุ่งสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของนักลงทุนหรือคนปลูก ยางทั้งในและนอกโครงการส่งเสริมของรัฐ ปัญหาการผลิตต้นกล้ายางไม่เพียงพอ รวมทั้งมีการกักตุนกล้ายางเพื่อเก็งกำไร และบางส่วนมีการ ส่งออกหรือนำกล้ายางไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ทำให้ประชาชนทั่วไปและเกษตรกรที่เตรียมพื้นที่รองรับการปลูกยางให้ทันฤดูฝน นี้ (พ.ค.-ส.ค.) ต้องรับภาระต้นทุน กล้ายางที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว และยอมเสี่ยงดวงหาซื้อกล้ายางมาปลูกเองซึ่งอาจประสบปัญหากล้ายางคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน
เจ้าหน้าทสนง.นกองทุนสงเคราะห์การทำ สวนยาง จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ปัญหาปลูกยางพาราที่นี่คือเรื่องดิน เนื่องจากมีสภาพเป็นดินทราย หน้าดินตื้นและเป็นดินดาน ทำให้รากแก้วไม่สามารถทะลุผ่านไปได้ วิธีแก้ไขจะต้องเตรียมดินและขุดหลุมให้ลึก 50 เซนติเมตรขึ้นไป
ส่วนการลักลอบนำพันธุ์ยางขายออกไปประเทศเพื่อนบ้านอาจมีบ้าง แต่ก็คงมีจำนวนน้อยเนื่องจากพันธุ์ยางในประเทศยังมีราคาแพงและไม่เพียงพอ
เกษตรกร รายหนึ่งเปิดเผยว่า การปลูกยางพาราที่ภาคอีสานถ้าจะปลูกให้ได้ผลดีต้องปลูกในพื้นที่ที่เป็นป่า มาก่อน เพราะสภาพดินอุดมสมบูรณ์ แต่ภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นดินทราย ไม่ดูดซับน้ำ ซึ่งยางพาราต้องการน้ำและความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี หากไม่ดูแลให้ดีต่อเนื่องก็จะได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร
ขณะนี้พบวา เริ่มมีพ่อค้านำพันธุ์ยางมาเลเซียเข้ามาปลูกในพื้นที่ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ซึ่งจำหน่ายราคาต้นละ 120 บาท โดยมีการให้ข้อมูลว่า เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงถึง 500 ก.ก.ต่อไร่ต่อปี แต่สภาพดิน น้ำ อากาศภาคอีสานไม่เหมือนมาเลเซีย ดังนั้นชาวสวนยางต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือกพันธุ์ยางให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกเดิมและแหล่ง ใหม่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางบางจังหวัด โดยแนะนำพันธุ์ยาง 3 กลุ่ม คือ 1.พันธุ์ยางเพื่อผลผลิตน้ำยาง แบ่งเป็นพันธุ์ยาง ชั้น 1 ได้แก่ สถาบันวิจัยยาง 251, 226 พันธุ์ BPM 24 พันธุ์ RRIM 600 ส่วนพันธุ์ยางชั้น 2 มีให้เลือก 16 พันธุ์
2.พันธ์ ยางเพื่อผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้ เช่น พันธุ์ PB 235, PB 255, PB 260, RRIC 110 เป็นต้น และ 3.พันธุ์ยางเพื่อผลผลิตเนื้อไม้ เช่น ฉะเชิงเทรา 50, BPM 1 เป็นต้น
พื้นที่ปลูกยางใหม่ในเขตส่งเสริมภาคเหนือ 17 จังหวัด และภาคอีสาน 19 จังหวัด ผู้ปลูกจะต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำฝน เช่น ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1,600-2,400 มิลลิเมตร/ปี วันฝนตก 118-149 วัน/ปี สามารถปลูกได้ทุกพันธุ์ ยกเว้นพันธุ์ PB 255 และ PB 260
พื้นที่ที่ มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 1,600 มิลลิเมตร/ปี จำนวนวันฝนตก 102-145 วัน/ปี สามารถปลูกได้ทุกพันธุ์ที่แนะนำ ยกเว้นพันธุ์ PB 225 และ PB 260
นาย พิริยะ เอกวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจยื่นประมูลขายกล้าพันธุ์ยางที่ สกย.จะจัดหาให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราใน พื้นที่แห่งใหม่ปีแรก 2 แสนไร่ จำนวน 18 ล้านต้น โดยเสนอราคารับซื้อ 18 บาท/ต้น บอร์ด สกย.ได้หารือเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า จะแจกคูปองเงินสดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไปจัดซื้อกล้ายางในราคา 18 บาท/ต้น โดยเกษตรกรต้องรับภาระส่วนต่างราคากล้ายางที่สูงขึ้นเอง คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการนี้กว่า 50-60% จากทั้งหมด 2 แสนไร่ ต้องสละสิทธิเลื่อนไปปลูกยางในปีหน้าแทน เนื่องจากไม่มีเงินทุนพอจะจัดซื้อกล้ายางที่ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก จึงจะให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ในลำดับถัดไปมาใช้สิทธิแทน
ทั้งนี้ เกษตรกรที่ต้องสละสิทธิรับการส่งเสริมจากปีนี้ไปเป็นปีหน้า สกย.จะจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีปลูกสร้างสวนยางครบวงจร เช่น การเพาะเมล็ดพันธุ์ยางและการติดตายาง ฯลฯ