จาก ประชาชาติธุรกิจ
ตลาดกล้ายางพาราทั่วประเทศป่วน นายหน้าตุนหวังฟันกำไร เหนือ-อีสานราคาพุ่งต้นละ 80-100 บาท บอร์ด สกย.ยืนยันเดินหน้าโครงการปลูกยาง 8 แสนไร่ เปิด 2 ทางเลือกเกษตรกร ให้รับคูปองเงินสนับสนุนกล้ายาง 18 บาท/ต้นจ่ายส่วนต่างเพิ่มเอง ส่วนใครไม่พร้อมให้เลื่อนไปปลูกปีหน้า
นาย ศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมามีการพิจารณาถึงแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่ง เสริมการปลูกยางในพื้นที่แห่งใหม่ 8 แสนไร่ ซึ่งกำลังประสบปัญหาต้นกล้ายางแพงและขาดแคลน โดยบอร์ด สกย.มีมติให้ แก้ปัญหาดังนี้ 1.จากที่ สกย.เปิดประมูลกล้ายางมาแล้ว 2 ครั้งนั้น ครั้งแรกมีเอกชนรายเดียวซื้อซองประมูลคือ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) ทำให้ สกย.ต้องยกเลิกประมูล เนื่องจากตามเงื่อนไขจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการต้องมีผู้ร่วมประมูลตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป
ขณะที่การเปิดประมูลครั้งที่ 2 ปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใดซื้อซอง บอร์ดจึงมอบหมายให้ สกย.แก้ปัญหาโดยยึดแนวทางเดียวกับที่เคยดำเนินการภายใต้โครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ เมื่อปี 2550 โดยให้ สกย.จ่ายเงินสนับสนุนจัดซื้อกล้ายาง 18 บาท/ต้น สำหรับส่วนต่างให้เกษตรกรเป็นผู้รับภาระซึ่งแล้วแต่ความสมัครใจของเกษตรกร หากรายใดไม่พร้อมก็จะให้เลื่อนสิทธิไปปลูกยางในปี 2555
2.การจ่าย เงินให้เกษตรกรจะจ่ายในรูปคูปอง เพื่อให้เกษตรกรนำไปซื้อกล้ายางในแปลงเพาะพันธุ์กล้ายางที่ขึ้นทะเบียนไว้ กับสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีการตรวจสอบคุณภาพ กล้ายางว่าได้มาตรฐาน โดยจะแจ้งให้เกษตรกรทราบว่าแต่ละจังหวัดมีแปลงกล้ายางที่ขึ้นทะเบียนไว้ที่ ไหนบ้าง จากนั้นจะให้ตกลงซื้อขายกันเอง
3. สกย.จะต่อรองราคากับเจ้าของแปลงเพาะพันธุ์ยางให้จำหน่ายในราคาต่ำสุดเท่าที่ จะทำได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระ เกษตรกรมากเกินไป ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าขณะนี้มีกล้ายางที่ติดตาพร้อมปลูกประมาณ 33 ล้านกล้า หากไม่มีการกักตุนก็น่าจะเพียงพอ ขณะเดียวกันจะเร่งจัดฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเกษตรกรจะต้องรีบปลูกยางให้เสร็จเรียบร้อยก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม 2554 นี้ โดยมติบอร์ด สกย. ทั้งหมดนี้จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อ ไป
ด้าน นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยว่า วันที่ 15 มิ.ย. 54 สกย.ได้จัดประชุม สกย. จังหวัดทั่วประเทศเพื่อชี้แจงขั้นตอน รายละเอียดในการดำเนินการโครงการนี้ เนื่องจากต้องการให้เกษตรกรปลูกยางได้ทันเวลาก่อนเดือนสิงหาคมนี้
ใน ส่วนของราคากล้ายาง สกย.จะต่อรองราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ราคาจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งขนาดและความสมบูรณ์ของกล้ายางด้วย อย่างไรก็ตามจากการประมาณการของ สกย. หากเป็นแปลงเพาะพันธุ์ยางที่ครบวงจร คือเพาะพันธุ์และติดตาเอง ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ 12-13 บาท/ต้น แต่ถ้าเกษตรกรผลิตกล้าโดยไปซื้อต้นติดตา (ยางตาเขียว) ขณะนี้ต้นทุนอยู่ที่ 20-22 บาท/ต้น บวกค่าถุง ค่าดิน ค่าแรงบวกกับเปอร์เซ็นต์ยางที่จะตาย 20-30% ต้นทุนจะอยู่ที่ 30 บาท/ต้น
ทั้งนี้ในปี 2554 สกย.จะส่งเสริมปลูกยางปีแรก 2 แสนไร่ทั่วประเทศ จะต้องใช้กล้ายาง 18 ล้านกล้า รัฐบาลสนับสนุนคากลายาง 580 ลานบาท แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 117,500 ไร่ ภาคเหนือ 40,000 ไร่ ภาคตะวันออกและภาคกลาง 24,680 ไร่ และภาคใต้ 17,820 ไร่
กล้ายางแพงกระทบทั้งระบบ
พ่อ ค้ายางพารารายหนึ่งในเขตอำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ แหล่งปลูกยางสำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสานเปิดเผยว่า ปีนี้ราคาต้นกล้ายางพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว จากต้นละ 25 บาท เป็น 50 บาท และขยับขึ้นสูงถึง 70-80 บาทนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการปลูกยางทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 8 แสนไร่ และกระทบกลุ่มประชาชน หรือผู้สนใจปลูกยางทั่วไปด้วย เนื่องจากราคาพันธุ์ยางในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานสูงถึงต้นละ 80-100 บาทแล้ว โดยขึ้นอยู่กับพันธุ์ยางและความสมบูรณ์ของต้นกล้ายางด้วย ทำให้ต้นทุนการปลูกสูงมาก และหาซื้อกล้ายางคุณภาพดีได้ยากขึ้น
ทั้ง นี้ ราคากล้ายางที่แพงขึ้นเกิดจากปริมาณความต้องการ (ดีมานด์) สูงขึ้น รวมทั้งมีขบวนการปั่นราคา หรือเก็งกำไรต้นกล้ายางผสมโรงด้วย โดยมีการกว้านซื้อต้นกล้ายางล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้นหากไม่สามารถปลูกในช่วงฤดูฝนนี้ได้ (พ.ค.-ก.ค.) จะเสียโอกาสการลงทุนไปอีก 1 ปี โดยยางพาราจะเติบโตและพร้อมกรีดต้องใช้เวลา 7 ปี
เกษตรกรเคลียร์พื้นที่รอกล้ายาง
นายอุบล นาคฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า ได้ออกสำรวจพื้นที่ของเกษตรกรที่ลงทะเบียนขอเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราใน พื้นที่ใหม่ ระยะที่ 3 เรียบร้อยแล้ว โดยจังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬได้รับการจัดสรรในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 50,000 ไร่ โดยในปีแรกได้รับการจัดสรร 16,600 ไร่ มีเกษตรกรยื่นความจำนงไว้กว่า 120,000 ไร่
ขณะนี้เกษตรกรที่ผ่านการ คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการได้มีการเตรียมพื้นที่ไว้เพื่อรอกล้าพันธุ์ยางมา ปลูก ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการปลูกยาง คือ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ยางพาราสามารถปลูกติดได้ง่าย แต่เมื่อโครงการมีปัญหายังไม่สามารถหาต้นพันธุ์ยางพาราให้ได้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการก็ยังคงรอความชัดเจนอยู่ และพร้อมที่จะจ่ายเงินส่วนเกินเอง เพราะส่วนใหญ่มีการติดต่อซื้อกล้าพันธุ์ยางไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ ปัญหากล้ายางนั้น มีปัญหาเหมือนกันทั่วประเทศ เนื่องจากกล้ายางไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ผู้ผลิตกล้ายางมีการปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งในจังหวัดหนองคายมีราคาสูงกว่า 40 บาท/ต้นแล้ว
นายพูนสุข อุเทนพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า พ่อค้าคนกลางหรือนายหน้าได้เข้ามากว้านซื้อต้นกล้ายางไว้หมดแล้ว ทั้งแปลงขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยใช้วิธีวางมัดจำไว้ต้นละ 2 บาท หากมีพ่อค้ารายอื่นหรือผู้ที่ต้องการปลูกยางไปซื้อก็จะขยับราคาขึ้นทันที โดยอ้างว่า ซื้อเพื่อนำไปส่งต่อยังตลาดภาคอีสาน ภาคเหนือ และตลาดต่างประเทศ ทำให้ราคาต้นกล้ายางในพื้นที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ต้นละ 45 บาท และ 55 บาท จากราคาเดิมประมาณ 18 บาท ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของพ่อค้าจนส่งผลทำให้ต้นกล้ายางขาดแคลนในขณะนี้
ส่งออกกล้ายางได้ราคาดี
นาย สุนันทน์ พรหมนวลสกุล หัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอสะเดา สำนักงาน สกย.เขต 1 สงขลา กล่าวว่า ประเทศลาว กัมพูชา พม่า มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก โดยรูปแบบการลงทุนมีทั้งรัฐบาลลงทุนเอง การส่งเสริมให้เกษตรกรลงทุน และร่วมลงทุนกับเอกชน โดยใน ปี 2555 พม่าจะลงทุนปลูกเพิ่มอีกประมาณ 3 ล้านไร่ ลาว 1 ล้านไร่ และเวียดนาม 1 ล้านไร่ ส่วนประเทศกัมพูชายังไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจน
เจ้าของแปลงพันธุ์ ยางพารารายหนึ่งในเขตเทศบาลตำบลหัวช้าง อ.เมือง จ.พัทลุง เปิดเผยว่า มีพ่อค้าจำนวนมากเข้ามาหาซื้อพันธุ์กล้ายางเพื่อส่งออกไปยังประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่า 100 บาท/ต้น
สอด คล้องกับนายภราดร นุชิตศิริภัทรา ผู้ผลิตต้นกล้ายางพารารายใหญ่ของจังหวัดตรัง และเลขาธิการสมาคมชาวสวนยางจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ความต้องการต้นกล้าพันธุ์ยางในปีนี้ยังสูงต่อเนื่อง ทำให้ราคาต้นกล้ายางอยู่ในระดับที่ดี คือต้นละ 20-50 บาท ทั้งนี้แล้ว แต่ชนิดและพันธุ์ยาง แต่หากนำไปขายต่อยังภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือส่งไปต่างประเทศราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก