จาก คมชัดลึกออนไลน์
คมชัดลึก :สงขลา-ทีมนักวิจัย มรภ.สงขลา เร่งสำรวจ-รวบรวมพันธุกรรมกล้วยไม้ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์เก็บรักษาสายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ดร.สุวรรณี พรหมศิริ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีเป้าหมายในการศึกษาชนิดกล้วยไม้ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ในภาคใต้ นำมาปลูก ดูแลรักษา และอนุรักษ์สายพันธุ์ไว้ในโรงเรือนของคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์กล้วยไม้ป่าหายาก รวบรวมภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากกล้วยไม้ป่า ส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นกับเยาวชนและประชาชนทั่วไป
โดยการดำเนินงานทีมวิจัยได้สำรวจและรวบรวมจำนวน 97 ชนิด 42 สกุล ในจำนวนนี้สกุลหวาย (Dendrobium) พบมากที่สุด 23 ชนิด รองลงมาคือสกุลสิงโต 20 ชนิด สกุลที่พบเพียง 1 ชนิด มี 31 สกุล บางชนิดเป็นกล้วยไม้ป่าหายาก หลงเหลือในธรรมชาติน้อยมาก เช่น รองเท้านารีม่วงสงขลา กะเรกะร่อน ชนิด A pale-flower form of Cymbidium finlaysonianum L.ซิมบิเดียมคลอแรนทัม (C.chloranthum L.) เอื้องปากนกแก้ว (Dendrobium cruentum Rchb.f.) และอีกหลายชนิด
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เริ่มจากการสัมภาษณ์ผู้หากล้วยไม้ป่า เพื่อให้ทราบถึงภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากกล้วยไม้ป่า พบว่าผู้ที่หากล้วยไม้ป่าเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพเสริมจะไม่เข้าใจการเก็บกล้วยไม้เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่ผู้ที่หาขายเป็นอาชีพหลักจะรู้วิธีเก็บที่ถูกต้องคือจะเลือกเก็บเฉพาะต้นที่สมบูรณ์ ต้นเล็กจะปล่อยให้เติบโตต่อไป นอกจากนั้นได้จัดอบรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมไปจนถึงพ่อค้ากล้วยไม้ป่า และนำกล้วยไม้ป่าที่ได้จากการขยายพันธุ์กลับคืนสู่ป่าด้วย