จาก คมชัดลึกออนไลน์
คมชัดลึก : คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังว่ารัฐบาลได้ออกนโยบายเรื่องปุ๋ยลดต้นทุน โดยเป็นมติ ครม.ออกมาเรียบร้อยแล้ว หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่านโยบายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง จึงอยากนำรายละเอียดมาบอกกล่าวกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีมากเรื่องหนึ่ง และน่าจะเป็นการเริ่มต้นของ “จุดเปลี่ยน” เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศไทยต่อไป
มีอยู่ระยะหนึ่งซึ่งกระแสเกษตรอินทรีย์มาแรงมาก จนถึงขั้นที่พยายามให้ลดหรือยกเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีกันเลย และเมื่อประกอบกับปุ๋ยเคมีมีราคาแพงเพราะว่าน้ำมันในตลาดโลกมีราคาพุ่งสูงขึ้นมากก็เลยทำให้กระแสดังกล่าวยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น และมีการสนับสนุนให้สร้างโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมาแทน
ความจริงกระแสความคิดดังกล่าวจะว่าผิดก็ไม่เชิง เพียงแต่ขาดความเข้าใจในเรื่องปุ๋ยเพราะมีการเหมารวมว่าปุ๋ยอินทรีย์สามารถเข้ามาทดแทนปุ๋ยเคมีได้อย่างสมบูรณ์
ความจริงแล้วหากจะเรียกให้ถูกต้องคำว่าปุ๋ยอินทรีย์ก็ไม่น่าจะใช้ แต่ควรเรียกว่า อินทรียวัตถุ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในดินแตกต่างจากปุ๋ย โดยอินทรียวัตถุทำหน้าที่ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินเพื่อให้ดินโปร่ง อุ้มน้ำได้ดี มีจุลินทรีย์มากขึ้น หรือเรียกได้ว่าทำให้ดิน “มีชีวิต”
ส่วนปุ๋ยเคมี คืออาหารของพืชที่พืชต้องการเอาไปใช้ในการเติบโตและพืชมีความต้องการในปริมาณมากจนกระทั่งธาตุอาหารที่มีอยู่ในอินทรียวัตถุหากมีการใช้ในอัตราปกติแล้ว ก็ไม่น่าจะเพียงพอต่อความต้องการของพืช
คราวนี้เมื่อหันกลับมามองเรื่องของปุ๋ยเคมี ก็จะเห็นว่ายังมีความจำเป็น เพียงแต่ว่าเมื่อปุ๋ยเคมีมีราคาแพง ก็ควรต้องใช้อย่างประหยัดหรือคุ้มค่าที่สุด
ปุ๋ยเคมีเมืองไทยผลิตออกมาขายกันมากเกือบ 800 สูตร มีทั้งสูตรที่มีไนโตรเจนสูง บางสูตรมีฟอสฟอรัสสูง บางสูตรก็มีโพแทสเซียมสูง หรือบางทีมีทั้งสามตัวในปริมาณเท่าๆ กัน แบบเหมารวม เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเลือกไม่ถูก ดังนั้นจึงใช้ปุ๋ยตามความเชื่อเดิมหรือรับฟังจากร้านค้าปุ๋ย แต่ลืมนึกถึงเรื่องความต้องการของพืชที่ปลูกอยู่
รวมทั้ง “ทรัพย์เดิม” ที่มีอยู่คือปริมาณปุ๋ยในดินเดิมที่เคยมี เมื่อนักวิชาการพัฒนาชุดตรวจสอบเอ็นพีเคในดินอย่างง่ายขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรสามารถตรวจวัดปริมาณธาตุอาหารในดินอย่างคร่าวๆ ได้ด้วยตนเองก็ทำให้เกษตรกรรู้ว่าดินของตนเองนั้นอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด
เมื่อมีคำแนะนำของนักวิชาการร่วมด้วยว่าควรใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม ก็เลยทำให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจะเห็นได้ว่าหลายกรณีที่ผ่านมาเกษตรกรปรับเปลี่ยนการใช้ปุ๋ยทำให้ค่าปุ๋ยลดลง เพราะเดิมใส่มากเกินไป และเมื่อลดปุ๋ยลงแต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นได้ เพราะว่าได้ธาตุอาหารที่เหมาะสม คือไปเติมในส่วนที่ขาดและพืชต้องการอย่างแท้จริง
จากจุดนี้เองคือที่มาของ โครงการปุ๋ยลดต้นทุน เพราะความหมายก็คือใช้ปุ๋ยเคมีให้ถูกต้องทั้งชนิดและปริมาณ ก็จะมีส่วนลดต้นทุนการผลิตโดยรวมลงได้ และเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย ก็ยิ่งทำให้กำไรต่อไร่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อรัฐบาลได้ประกาศใช้เรื่องนี้เป็นนโยบายพร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการโดยการจ่ายค่าชดเชยค่าปุ๋ยให้อีกกิโลกรัมละ 1.50 บาท และมอบให้หลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม นั่นก็หมายความว่าต่อไปนี้จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรไปในทางที่ดีขึ้น
ถึงแม้ว่าจะยังไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังร้อยเปอร์เซ็นต์ และอาจขลุกขลักบ้าง แต่เมื่อเริ่มก้าวแรกได้ โอกาสปรับปรุงวิธีการและเปลี่ยนวิธีคิดในอนาคตก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกมากครับ!
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ