จาก เดลินิวส์ออนไลน์
กรมวิชาการเกษตร จัดตั้งห้องปฏิบัติการรวม 10 ห้องปฏิบัติการ ที่สามารถตรวจสอบคุณภาพสินค้าพืชก่อนถึงมือผู้บริโภคโดยเฉพาะในกรณีเพื่อการ ส่งออก ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ห้องปฏิบัติการโภชนาการ ห้องปฏิบัติการสารเจือปน ห้องปฏิบัติการสารปนเปื้อน ห้องปฏิบัติการสิ่งปลอมปน ห้องปฏิบัติการสารพิษ ห้องปฏิบัติการทางเคมีภาชนะบรรจุ ห้องปฏิบัติการทางกายภาพภาชนะบรรจุ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบทางกายภาพและประสาทสัมผัส ห้องปฏิบัติการสารพิษตกค้าง
นางภาวนาฏ บุนนาค หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า มีหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าพืช ผลิตภัณฑ์พืชและสินค้าแปรรูปก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันหรือลดการถูกกักกันหรือปฏิเสธสินค้าจากประเทศคู่ค้า โดยที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยจะยึดตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรฐาน Codex
พร้อมกันนี้กรมฯ ยังได้พัฒนาห้องปฏิบัติการ จนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญในส่วนของห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษ ซึ่งมีหน้าที่ทดสอบสารพิษที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะ สารแอฟลาทอกซิน นั้นได้รับรางวัลความชำนาญและความสามารถของผู้วิเคราะห์ผลแอฟลาทอกซินที่ถูก ต้องแม่นยำ 6 ปีซ้อน จากประเทศอังกฤษ ซึ่งการพัฒนาบุคลากรตลอดจนห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสินค้าพืชของกรม วิชาการเกษตร ให้ได้คุณภาพมาตรฐานในระดับสากลจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการยอมรับ และเชื่อมั่น ในคุณภาพสินค้าที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบพืชผักของห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรนั้น จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กักพืช ซึ่งจะตรวจพืชควบคุมเฉพาะ ได้แก่ ตรวจเชื้อ อีโคไล ซัลโมเนลล่า และตรวจสารพิษตกค้าง 4 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มไพรีทอยด์ และคาร์บาเมต รวมพืชผัก 32 ชนิด โดยพืชผักที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (อียู) จะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ ได้แก่ ถั่วฝักยาว ผัก
ตระกูลกะหล่ำ มะเขือ โหระพา กะเพรา เนื่องจากมีการตรวจพบสารพิษตกค้างจากประเทศปลายทางและได้รับการเตือนมาบ่อย ครั้ง ดังนั้น จะต้องควบคุมตรวจสอบพืชเหล่านี้เป็นพิเศษ เพื่อลดปัญหาการปฏิเสธนำเข้าสินค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
“อยากจะฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนในห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดี ถูกต้องตามหลักวิชาการและที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด เพื่อให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพ ปลอดภัยได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ” นางภาวนาฏ กล่าว
เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่จะส่งสินค้าพืชไปยังต่างประเทศ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้ที่กลุ่ม พัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2940-7440, 0-2940-7166.