จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ประสิทธิ์ ไชยชมพู
องค์กรชาวบ้านหยัดยืน20ปีจนตั้งสหกรณ์ส่งข้าวอินทรีย์ขายออสเตรเลีย อเมริกา ฝรั่งเศส กว่า100ตัน นำเงินเข้าร่วม 10ล้าน ในประเทศอีกร่วม 5ล้านบาท
ข้าวหอมมะลิว่าหอมแล้ว ได้กินข้าวหอมมะลิอินทรีย์ยิ่งเลิศรส แล้วถ้าใครมาเห็นข้าวอินทรีย์สุญญากาศ บรรจุกล่องสวยมาตรฐานรอส่งต่างประเทศ เห็นโรงสีข้าวอินทรีย์ได้มาตรฐาน คงจะทึ่งกันบ้าง เพราะนี่เป็นองค์กรชาวบ้านแท้ๆ ที่จับมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนช่วยกันผลักดัน
เมื่อทึ่ง ก็ต้องไถ่ถาม คำตอบเบื้องต้นคือ "กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องฝ่าอุปสรรคมากมาย รวมตัวต่อสู้ ขวนขวายหาความรู้ มีประวัติศาสตร์องค์กร ประวัติคนทำงาน"
ผู้สูงวัย ท่าทางใจดี อดีตประธานคณะกรรมการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์ กับกรรมการฯ และส้มป่อย จันทร์แสง ผู้จัดการ กับอีกหลายคนรอตอบ
สัมฤทธิ์ บุญสุข วัยกว่า 81 ปียังมีเค้าร่างล่ำสัน เคยบึกบึนผ่านงานมาโชกโชน เล่าว่า เคยเป็นตัวแทนค้าปุ๋ยเคมี แล้วหันมาบุกเบิกทำเกษตรเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ช่วงปี 2528 ปุ๋ยเคมีบูมไปทั่วสุรินทร์ ซื้อจากตัวแทนองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.) มีการโฆษณาดีสารพัด คนซื้อไปใช้แล้วข้าวงาม ขยายปากต่อปาก ก็ซื้อใส่ตาม ๆ กัน
"สมัยนั้นกลุ่มผมใช้ปุ๋ยเคมีมากที่สุด ต่างก็ตั้งกลุ่มเพื่อจะได้ปุ๋ย ได้ยา จากราชการ 2526 ถึง 2528 อตก.ต้องการตัวแทนจำหน่าย ผมสมัครเป็นตัวแทนจดทะเบียนเป็นผู้ค้าปุ๋ย ชักชวนเกษตรกรมาใช้ด้วยกัน ขายไปถึงอุบล แต่บังเอิญเปลี่ยนรัฐบาล ผู้จัดการ อตก. ก็ดึงคนของรัฐบาลมาทำเอง ผมก็เลยหยุด"
พ่อสัมฤทธิ์ แถมอีกว่า ธุรกิจมันเห็นแก่ตัวด้วย ปุ๋ยบางตัวที่อื่นไม่ใช้ก็โยนมาอีสาน 16 –18-0 กับ 16 -20-0 ที่นี่ขายไม่ได้ โยนไปให้อุบลฯ ทางนั้นขายได้บ้าง แต่ก็เหมือนถูกบังคับ
นายปฏิพัทธ์ จำมี เกษตรกรจากตำบลสำโรง ทิ้งงานก่อสร้างชลบุรี กลับบ้านหวังจะพึ่งทำนาข้าว แต่ทำนาเคมี 3 ปีไม่ดีขึ้น เหนื่อยจากไถนาด้วยควายแล้ว ยังต้องหาบกล้าปักดำอีก เมื่อรู้จักกลุ่มเกษตรธรรมชาติ รู้เรื่องเกษตรกรฟูกูโอกะ ก็ลองเรียนรู้ ปลูกเลียนแบบ ไม่ไถ หว่านแล้วใช้ฟางคลุม งอกก็จริง แต่วัชพืช กับแมลงกิน
เป็นสมาชิกเกษตรธรรมชาติ รู้ว่าตลาดโลกต้องการข้าวอินทรีย์ ก็ลองทำ แลกเปลี่ยนกับสมาชิก เช่น จากแปลงพ่อสัมฤทธ์เป็นเกษตรผสมผสาน ธรรมชาติ และอินทรีย์ ให้ผลผลิตดี กับอีกคนหนึ่งใช้สารเคมี ดินแย่ลง กลับมาก็งแบ่ง 1 ไร่ทดลองปลูก ปีแรกได้ 2 กระสอบ
พ่อสัมฤทธิ์ อธิบายว่า เกษตรดั้งเดิม คือเกษตรธรรมชาตินั่นแหละ สมัยก่อนไม่มีสารเคมี พอใช้สารเคมีแล้วย่ำแย่ เราก็ย้อนกลับไปหาธรรมชาติ ทำเกษตรผสมผสาน ทั้งปศุสัตว์ ปลูกพืช แต่ผสมผสานคนทั่วไปก็ยังใช้สารเคมีอยู่ ส่วนเราใช้อินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยสด วัตถุย่อยสลายได้ อย่างนี้เรียกอินทรีย์
พ่อสัมฤทธ์ พูดถึงสมัยก่อนโน้น กรมพัฒนาที่ดิน มาแนะนำปรับปรุงดิน แจกพืชบำรุง ตรวจสภาพดิน หาค่ากรดค่าด่าง มีสารตกค้างแค่ไหน
"ตอนนั้น สรุปได้ว่าหน้าดินเสื่อม สารตกค้างในดินด้วย" พ่อสัมฤทธ์ ว่า
นายปฎิพัทธ์ เสริมว่า สารเคมีตกค้างแน่นอน ปุ๋ยจะทำให้ดินแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เวลาดำนากดลงไป พอยกมือขึ้นต้นข้าวก็ล้ม เพราะกลายเป็นดินทราย ต้องกดดำ 2 หน 3 หน
"เดี๋ยวนี้สมาชิก 300 กว่าครอบครัว ส่วนใหญ่ผ่านระดับมาตรฐานส่งออกนอกได้ 80 % มัธยม 5% ปฐม 15% ก่อนปี 2531 มีทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว ส่งสวิสเซอร์แลนด์ปีละ 1-2 ตัน เริ่มมาขยายฐานที่นี่ เราตั้งกลุ่ม แต่ตอนแรกยังทำไม่ได้ เพราะคนไม่เข้าใจ ไม่รู้เกษตรอินทรีย์ จะเอาอะไรมาปรับปรุงดิน" ปฎิพัทธ์ กล่าว
พ่อสัมฤทธ์ เปรยขึ้นว่า "ไม่มีใครอยากตายผ่อนส่ง ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย กินอิ่ม แต่โรคภัยตามมาหรอก"
ปฎิพัทธ์ เสริมว่า อันนี้พูดบ่อยจะสอดแทรกทุกครั้งในการประชุม เราปลอดภัยคนอื่นก็ต้องปลอดภัยด้วย ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
เมื่อถามถึงรสชาติมันต่างจากข้าวใส่ปุ๋ยเคมีอย่างไร พ่อสัมฤทธ์ บอกเรื่องรสชาติต่างกันแน่นอน เข้าปากรู้ทันทีเลย ถ้าไปกินของคนใช้สารเคมีจะรู้ทันที ลิ้นมันจะบอกเลย อินทรีย์จะมีความหอมความอ่อนกว่า นิ่มกว่า
"ถ้าไม่เชื่อต้องลองด้วยตัวเอง ลูกค้าบางกลุ่มมาให้เราหุงให้กิน เค้าเคยกินมาก่อน แล้วก็มาที่นี่ เราหุงให้กินแล้วเค้าจะซื้อ กว่าจะซื้อว่าเอาเกรดนี้ เอาคุณภาพนี้ ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อเพราะเราทดลองหุง กลิ่นหอมมันออกมา เค้าตัดสินใจ"
คุณสมป่อย จันทร์แสง ผู้จัดการสาวได้โอกาสพูดบ้างว่า “มันนุ่ม ถ้าเป็นหอมมะลิ หอมจริงๆ ข้าวบูดช้า ข้าวยังไงก็ต้องบูด แต่ข้าวอินทรีย์จะบูดช้า ข้าวเคมีจะบูดเร็ว ข้ามคืนก็บูดแล้ว แต่อินทรีย์ข้ามคืน สบายเลย"
ทุกขั้นตอน คงคุณค่าข้าวอินทรีย์
น.ส.อรทัย บูรณะ พนักงานขาย และหัวหน้าฝ่ายโรงสี น.ส.จิตราพร ก่อทอง ฝ่ายควบคุมคุณภาพ(Q.C.) น.ส.ณัฐธิดา จันทร ฝ่ายการเงิน ช่วยกันเล่า เรื่องมาตรฐานข้าวเปลือกรับซื้อ
แบ่งเป็น 5 มาตรฐาน ดังนี้ 1.ปฐมอินทรีย์(Primary Organic) 2.อินทรีย์ปรับเปลี่ยน(Inconventional) 3.สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย หรืออินทรีย์ มกท.(Organic Agriculture Certification Thailand) 4.อินทรีย์ EU(EC) No.834/2007 & of Regulation, No.889/2008 5.อินทรีย์ NOP (USDA/NOP USDA’s National Organic Program NOP)
เราพากันเรียกล้อๆ ว่าเป็น ข้าวปฐม คือแบ่งที่นาบางส่วนทดลองทำ ข้าวมัธยม คือปรับเปลี่ยนทำอินทรีย์ 3 ปี ข้าวมหา’ลัย ทำส่งยุโรปต้องทำอินทรีย์มาแล้ว 24 เดือนขึ้นไป และข้าวดอกเตอร์ส่งอเมริกา 36 เดือนขึ้นไป
สำหรับโรงสีกำลังการผลิต 24 เกวียน เท่ากับสีได้ข้าวสารชั่วโมงละ 1 ตัน แต่ทำวันละ 8 ชั่วโมง หรือโอทีอีก 1 ชั่วโมง เพราะตกค่ำแมลงจะเข้าไป
ก่อนจะนวดข้าว ตัวแทนกลุ่มนำกระสอบสั่งผลิตพิเศษไปแจกสมาชิก กำหนดส่ง จะมีกรรมการ เจ้าของข้าว คนตรวจมาตรฐาน มาพร้อมกัน ดูพันธุ์ข้าว สิ่งเจือปน ปั่นกะเทาะออกมาวัดเปอร์เซ็นต์ข้าวต้น(ข้าวเต็มเมล็ด) ส่งเข้าโรงสี พร้อมใบกำกับประเภทข้าว จากนั้นส่งข้าวไปห้องคัดแยกสิ่งเจือปน
ขั้นตอนบรรจุ ข้าวส่งมาพร้อมใบกำกับ ชั่งน้ำหนักใหม่ คัดมาตรฐานข้าว ร่อนฝุ่น แยกสิ่งเจอปน บรรจุถุง ช่วงนี้จะสุ่มตรวจชั่วโมงละ 15 ชิ้น เข้าเครื่องอัดสุญญากาศ ออมาเป็นก้อน สุ่มตรวจอีกเท่ากัน เกณฑ์เหล่านี้เป็นประสบการณ์ทำกับกรีนเนท
"อัดสุญญากาศแล้ว พักไว้ 1 วันในโรงบรรจุ ต้องปลอดสารเคมี ปลอดสารพิษ มด แมลงก็ห้ามเข้าเด็ดขาด"
ถามเย้าว่า ติดป้ายห้ามมด แมลง ด้วยหรือ? มีฮานิดหน่อย มุขแป๊ก! จิตราพร ยังว่าต่อ ถ้าเข้าไปได้ ก็ต้องเช็ดกวาดคนของเราเข้าไปก็ต้องทำตามกฎ ใส่ชุดฟอร์ม ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปาก ผ้าคลุมผม
จากนั้นนำใส่กล่องสี คือกล่องพร้อมส่งออก บรรจุลงลังตามขนาด 4 กิโล 10 กิโล 12 กิโล 20 กิโล ซึ่งขนาด 1 กิโล และครึ่งกิโล นิยมที่สุด รองลงมา 5 กิโล
เมื่อปีที่แล้ว ส่งออก 4 ประเทศ ออสเตรเลีย อเมริกา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ สำหรับออสเตรเลีย 5.9 ตัน มูลค่า370,000 บาท อเมริกา 40 ตัน 2,500,000 บาท ฝรั่งเศส 64 ตัน 4,700,000 รวมเป็น 9,880,000 บาท ส่วนสิงค์โปร์เพิ่งเริ่มส่งออกเล็กน้อย
ส่งขายในประเทศ 97 ตัน มูลค่า 4.6 ล้านบาท ถูกกว่าเพราะไม่มีค่ากล่อง ค่าบรรจุ ในประเทศหน้าร้านไม่อัดสุญญากาศขายกิโลละ 18 บาท ถ้าอัดสุญญากาศข้าว อินทรีย์ มกท.กิโลละ 40 บาท ข้าวกล้อง 37 บาท ราคาขยับราว 50 สตางค์ ตามค่าเงินดอลล่าร์
ระยะแรก ๆ ยังไม่ตรวจรับรองมาตรฐาน จนปี 2539 สมัครขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. ซึ่งจะมาตรวจแปลงนา กระสอบ สถานที่แพคกิ้ง ส่วน “แฟร์เทรด” ตรวจความเป็นธรรมด้านแรงงาน
นายประสงค์ สีสะอาด ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ตอนนี้ใช้เงินซื้อข้าว 20 ล้านบาท ส่วนเงินหมุนเวียนประมาณ 12 ล้าน บริหารจัดการ จ้างงานในชุมชม จ้างงานครอบครัวสมาชิก พนักงานประจำ 6 คน รายวัน 21 คน
"สหกรณ์ยังส่งเสริมปลูกพืชหลังเกี่ยว เช่น ผัก หอม กระเทียม ถั่วลิสง รับซื้อของสมาชิก และส่งเสริมทำปศุสัตว์ เป็นอาหารให้ครัวเรือนด้วย" ประธานฯ ระบุ
คืนสู่รัง ครอบครัวอบอุ่น
"จบ ปวช.2530 ทำงานกรุงเทพ ตีโครงเฟอร์นิเจอร์วันละ 90-300 ร้อยบาท ทำตามรุ่นพี่สัก 3 เดือนก็รับเหมาต่อ ถ้าวันละ 3 ชุดก็ประมาณ 300-400 บาท แต่ถึงฤดูนาก็กลับมาทำนา รายได้ทำงานก็ส่งให้พ่อแม่ซื้อปุ๋ยเคมีใส่นา"
นายสำราช ทองเอี่ยม หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบเศษ เกษตรกร ต.ทมอ อ.ปราสาท เล่าชีวิตก่อนพบทางเกษตรอินทรีย์ มีนางจินตนา ภรรยายิ้มนัยน์ตารื้นอยู่ใกล้ ๆ
เขาเล่าต่อไปว่า 2534 กลับมาอยู่บ้าน ปีถัดมาก็แต่งงาน แล้วก็พากันเข้ากรุงเทพ ผัวอยู่ลาดพร้าว เมียทอผ้าอยู่สามพราน วีกละ 2,000 บาท นาน ๆ ได้เจอกัน จนปี 2538 ย้ายมาทำงานที่บางนา กม.6 เป็นช่างซ่อมรถเครน เมียทำโรงงานร้องเท้าแถวบางโฉลง อยู่ห้องเช่าด้วยกัน ถึงปี 2540 พฤษภาคม ตัดสินใจกลับบ้าน ตอนนั้นมีปัญหาค่าแรงตก เมียรวมโอทีได้วีกละ 3,000 บาท ผัวเดือนละ 6,500-7,000 บาท แต่ไม่มีโอที ก็อยู่ยาก
อยู่บ้านเพื่อน พี่ ๆ แนะนำไปศึกษา ไปดูงานเกษตรอินทรีย์ ปีถัดมาก็ลงมือทำนาอินทรีย์ 5 ไร่ได้ไม่ถึง 2 ตัน ถ้านาเคมีจะได้ราว 2,300 กิโล แต่หลัง 3 ปีก็ได้ถึง 2 ตัน จนปี 2545 ทำเพิ่มเป็น 35 ไร่
"รายได้ข้าวปีละเกือบ 2 แสนบาท จากข้าว 10 ตันกว่า ไว้กิน 1 ตัน ทำพันธุ์ 1 ตันกว่า นอกนั้นขายให้กองทุนข้าว มาปี 50 ซื้อนาเพิ่ม 7 ไร่ ปลูกผักอินทรีย์ขายตลาดสีเขียว ซื้อผ่อนรถไถเดินตาม ต่อเติมบ้าน ส่งลูกเรียน คนโตเข้ามหาวิทยาลัย คนเล็ก ม.3" ภรรยาเล่า นัยน์ตายังรื้นไม่หาย
จุฑามาศ สดมสุข พี่สาวของจินตนา เล่ารับลูกกัน และเป็นเรื่องลูกจริง ๆ ครอบครัวน้องมาอยู่บ้าน ก็เป็นโอกาสเธอกับสามีไปกรุงเทพบ้าง วันแรกนั่งรถตู้เข้ากรุงเทพ รถคว่ำ เสียชีวิตหลายคน เธอบาดเจ็บสาหัส แต่สามีไม่เป็นอะไรเลย พอหายเจ็บก็พากันเข้ากรุงอีก
เธอสุขภาพไม่ค่อยดี โรคไมเกรนประจำตัว เครียดหลายอย่าง เข้าไปช่วงฟองสบู่แตก กลับมาบ้านพักหนึ่ง ก็กลับไปอีก ทำงานบริษัททั้งสองคน เธอต้องกินยาประมาณ 420 บาทต่อสัปดาห์ กิน 2 - 3 สัปดาห์ติดกันไม่หยุด ถึงขั้นเหงื่อออก ฉี่ก็ได้กลิ่นยา
กลับมาเยี่ยมบ้าน น้องเขย(นายสำราช) ก็บอกให้กลับมาอยู่บ้าน ทำเกษตรอินทรีย์ทุกครั้ง ปรึกษากับสามี ๆ ไม่มั่นใจ แต่ในที่สุด ก็ตัดสินใจกลับบ้านปี 2546 ทำนาอินทรีย์ 13 ไร่ของตัวเอง ต่อจากน้อง
จุฑามาศ เล่าอดีตขมขื่นว่า คลอดลูกได้เดือนเศษก็ไปทำงานกรุงเทพ ปล่อยให้น้าเลี้ยงแทน มาเยี่ยมลูก ตอนขวบเศษ ลูกไม่ให้อุ้มเลย แม่น้ำตาร่วงเลย จะได้อุ้มแค่เวลาหลับ อยู่ห่างกันได้แต่บอกรักทางโทรศัพท์ อยากได้อะไรก็หาให้ มาถึงช่วงเรียนอนุบาล น้องโทรบอกว่า ลูกสาวคนเล็กไม่สบาย ชักบ่อย
ก็ถามหมอ ทำไมชักบ่อย จริงๆ แล้วลูกต้องการความอบอุ่นจากแม่ เราก็ยังไม่พร้อม แต่น้องขู่ ถ้าไม่มาอยู่บ้านก็ไม่เลี้ยงลูกให้ ไม่เฝ้าบ้านให้ด้วย
"กลับมาอยู่บ้านทำนาอินทรีย์ มีความสุขมาก อยู่กับลูก พาลูกเที่ยว ตอนนั้นคนโต 7 ขวบ คนเล็กอนุบาลก็ไม่ชักอีกเลย" เธอพูดด้วยสีหน้ามีความสุข
ทุกวันนี้ คนโตเรียน ม.3 คนเล็กขึ้น ป.5 ทำนาอินทรีย์ขายข้าวมาตรฐาน มกท. สามีเป็นช่างก่อสร้าง เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยไป ทำปศุสัตว์ในบ้าน ปลูกผัก ไปขายตลาดสีเขียว ที่ อ.ประสาท อังคาร พุทธ พฤหัส ส่งข้าว “ร้านข้าวหอม”วันเสาร์มาตลาดสีเขียว อบจ.
จุฑามาศ เล่าด้วยความปลื้มมาก ๆ เช่นเดียวกับ สำราช จินตนา เพราะต่างได้ครอบครัวคืนมาอย่างทันท่วงที
สู้พ่อตา...ขอทำนาอินทรีย์
ส่วน ประสิทธิ์ โคตรโสภา ชาวมหาสารคาม เขย ตำบลโคกสำโรง ตั้งใจจะเอาดีทางเรียน แต่มีปัญหาครอบครัว ต้องออกจากบ้านมาอยู่กับพี่สาวพี่เขย ทำเอ็กซ์ปอร์ต อิมปอร์ต เรียนจบ ม.ศ.3 พี่ไม่ให้เรียนต่อ ทำงานด้วย 6 ปี จึงออกไปทำงานสารพัด ช่วงนั้นเที่ยวแหลก แต่เอ่ยปากกับเพื่อนว่าถ้า 28 ปีไม่รวยก็จะแต่งงาน
"อายุได้ 28 ผมก็แต่งงานเลย คบไม่กี่วัน อยู่มาจนเดี๋ยวนี้ลูก 3 คน"
แต่งงานปี 2533 ปีต่อมาก็คลอดลูก มาอยู่บ้านพ่อตา อยากทำนาอินทรีย์ เมียกับพ่อตาไม่เอาด้วย แต่ชิงลงมือทำแล้ว วันต่อมา พ่อตาเอาปุ๋ยเคมีไปหว่าน จ้างคนฉีดยาฆ่าแมลง พ่อตายังก่อหนี้ให้รับภาระแทนด้วย ทำนาเสร็จเขามากรอกไปหมด เหลือเฉพาะข้าวพันธุ์ ต้องซื้อข้าวสารกิน ยืมข้าวกิน 9 กระสอบดอกเบี้ย 4 กระสอบครึ่ง
"ปี 2545 คิดว่าใช้หนี้หมดแล้ว แกไปเล่นพนันมีหนี้อีก ต้องเช็คแล้วล๊อคไว้ อาเจ๊ อาหมวย ห้ามให้แล้วนะ ถ้าให้ ผมไม่จ่ายแน่ มาหมดหนี้ปี 47 กว่า 4 หมื่นบาท ตอนนี้แกเลิกแล้ว เพราะเอาความดีเข้าสู้"
"ตอนนั้นบอก ไม่ไหวแล้ว ถ้าพ่อให้ผมทำนาวิธีนี้ ผมจะเลิก จะย้ายออกจากบ้านนี้" ประสิทธิ์ เล่าพลางอมยิ้มกับอดีต
*สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์ จำกัด 88 ม.7 บ้านทะนง ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ โทร.044-528377, 044-040180 E-mail: sfsfsrmer@hotmail.com