สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผวา!ชาวนาทิ้งข้าวหันปลูกยาง ไทยขาดแคลนอาหาร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ในปี 2553 ไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราจริงอาจสูงถึง 20 ล้านไร่ และส่วนหนึ่งเปลี่ยนที่นาเป็นสวนยาง หวั่นกระทบความมั่นคงอาหารของประเทศในอนาคต
ราคายางที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเข้าไปในหลายพื้นที่ โดยไม่ประเมินผลกระทบ "กรุงเทพธุรกิจ" จึงได้นำผลการศึกษา ของ รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ซึ่งพบว่าการปลูกยางจะกระทบความมั่นคงอาหารของประเทศในอนาคต

 ทั้งนี้ราคายางพาราที่พุ่งทะยานขึ้น แบบฉุดไม่อยู่ถึง 150 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้พื้นที่ปลูกยางขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง รวมไปถึงนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพารา 20 ล้านไร่ของรัฐ ทำให้พื้นที่สวนยางรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าไม้ รวมไปถึงการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชอาหารอย่างนาข้าว สวนผลไม้ เป็นไม้เศรษฐกิจอย่างสวนยางพารา
  การรุกคืบเข้าไปอย่างรวดเร็วของสวนยางพารา โดยที่รัฐไม่มีแผนประเมินผลกระทบ พร้อมทั้งมาตรการรองรับที่ดีอาจก่อให้เกิดผลเสียในอนาคต โดย รศ.ดร.สมบูรณ์  ได้ทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการส่งเสริมพื้นที่ปลูกยางโดยขาดการวางแผน ซึ่งพบว่าชาวนาในภาคใต้ เปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพาราเพราะราคาดีกว่า

 "จากปี 2546 เป็นต้นมาราคายางธรรมชาติสูงขึ้นโดยลำดับและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทะลุ 100 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2553 เป็นเหตุให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในประเทศอย่างต่อเนื่องจนเรียกได้ว่าเป็นกระแส "ตื่นยาง" ทั้งจากการสนับสนุนโดยภาครัฐและจากการตัดสินใจเพาะปลูกส่วนบุคคล ราวกับไม่มีกลไกควบคุมและไม่มีขอบเขตจำกัด"

 ราคายางพาราที่สูงขึ้นในระยะเกือบ 10 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป ต่างหันมายึดอาชีพเพาะปลูกยางพารากันมากขึ้น แม้ตัวเลขที่เป็นทางการสรุปว่าในปี 2553 ไทยมีพื้นที่ปลูกยางพารา 17.96 ล้านไร่ แต่เชื่อว่าตัวเลขพื้นที่เพาะปลูกจริงอาจสูงถึง 20 ล้านไร่  โดยมีการรุกพื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งเป็นโซนป่าต้นน้ำเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นการปลูกยางเชิงเดี่ยว ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาผลกระทบที่รุนแรงจากอุทกภัยทั้งในระดับต้นน้ำคือที่ตั้งสวนยางเอง และระดับปลายน้ำ คือ เขตเมือง

  งานวิจัยของ ดร.สมบูรณ์ ระบุว่า การพัฒนายางพาราของไทยดำเนินไปแบบขาดฐานความรู้ จนพบปัญหาใหญ่ๆ มากมายทั้งในระดับนโยบาย และในระดับปฏิบัติ เกินกว่าที่จะวางใจได้ว่าอาชีพการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพที่จะนำความมั่นคงมาสู่ประเทศไทยโดยส่วนรวมในระยะยาว โดยมีข้อห่วงใยหลายประการตลอดกระบวนการพัฒนายางพาราทั้งระบบที่เกษตรกร สังคมไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลต้องตระหนัก คือ การปลูกยางพาราจะกระทบกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคต

 มีการเปลี่ยนพื้นที่นาด้วยการยกร่องปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก และอย่างกว้างขวางโดยขาดความระมัดระวัง หรือขาดการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ชาวนาในประเด็นปัญหาและผลกระทบต่อต้นยาง ต่อผลผลิต ต่อความมั่นคงด้านอาหาร
 ผลการศึกษาชี้ชัดว่าหลังราคายางสูงขึ้นมีชาวนาจำนวนมากตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา โดยผลจากการประยุกต์ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม SPOT-5 เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นาข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลผสม

 จากกรณีศึกษา อำเภอเมือง เขาชัยสน และบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ของอานันต์ คำภีระ และคณะ (2550) พบว่าจากปี 2545-2549 มีการลดลงของพื้นที่นาข้าวในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าว โดยเปลี่ยนไปปลูกยางพาราโดยวิธียกร่องถึงร้อยละ 31.66
นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์เกษตรตำบลท่านหนึ่ง (29 เม.ย. 2554)  พบว่าเมื่อ 3 ปี ก่อนหน้าเกษตรกรตำบลหารโพธิ์  อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ประกอบชีพทำนากันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีระบบชลประทานค่อนข้างสมบูรณ์  แต่ปัจจุบันเกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่นา โดยการยกร่องปลูกยางพารากันมากถึงร้อยละ 50 ของคนที่เคยทำนาเลยทีเดียว
 หากว่ากันตามประสาชาวบ้าน ก็จะพูดได้ว่าชาวนาไม่เคยเห็นกรณีตัวอย่างการทำนาแล้วรวย  แน่นอนมุมมองดังกล่าวเป็นมุมมองตามแนวเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Main Stream Economics) ซึ่งให้ความสำคัญที่เงินตราเป็นหลัก ยิ่งปัจจุบันการดำเนินชีวิตของชาวนาพึ่งพาตลาดมากขึ้น ดังนั้น หากมีทางเลือกใดที่ทำให้ตนเองมีความมั่งคั่งมากกว่า ชาวนาก็จะเลือกทางเลือกนั้น และแน่นอนพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ชาวนาให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ

 การปลูกยางพาราในที่นาด้วยการยกร่องก็ใช่ว่าจะให้ผลดีเช่นที่ดอนโดยทั่วไป ดร.สมบูรณ์ ระบุว่า เขาได้สัมภาษณ์หมอดินอาสาที่ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง (21 พ.ย. 2549) พบว่าหมอดินอาสาท่านนี้ได้ปลูกยางพาราในพื้นที่นาของตนเองโดยการยกร่องเมื่อปี 2539 บนพื้นที่ 4 ไร่  
 ผลปรากฏว่า ในปีแรกที่กรีดได้ต้นยางให้ผลผลิต 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน แต่ในปีที่สอง ผลผลิตต่อไร่กลับลดลงมาเหลือเพียง 1 กิโลกรัมต่อไร่ และในปีที่สามกลับไม่ให้ผลผลิตเลย จนต้องโค่นสวนยางพาราดังกล่าวทิ้งในที่สุด ข้อสังเกตสำคัญอีกประการหนึ่งที่ได้จากการสัมภาษณ์ในครั้งนั้น คือ ยางพาราที่ปลูกในพื้นที่นาโดยการยกร่องนั้น ลำต้นจะโตเป็นปกติเฉพาะใน 3 ปี แรกเท่านั้น หลังจากนั้น ลำต้นจะโตช้ามาก เมื่อถึงอายุที่จะกรีดได้จะมีขนาดลำต้นเล็กกว่าปกติมาก และแน่นอน ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของลำต้น ย่อมส่งผลต่อผลผลิตอย่างแน่นอน

 นอกจากนั้น จากการสัมภาษณ์นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สนใจมิติเศรษฐกิจและสังคมของยางพาราท่านหนึ่ง (22 เม.ย. 2554) พบว่าเกษตรกรชาวสวนยางตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งปลูกยางพาราในที่นา ก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน คือ ต้นยางที่เปิดกรีดจะมีขนาดลำต้นเล็ก  ผลผลิตที่ได้อย่างมากก็เพียง 1 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน (ปกติควรจะได้ 2 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน) เกษตรกรเรียกสวนยางดังกล่าวว่า "สวนยางทนกรีด" คือ แม้จะให้ผลิตน้อยมาก แต่เกษตรกรก็ยังต้องจำทนกรีดต่อไป


ล่าสุดจากงานวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจปลูกยางในนาข้าวของเกษตรกรในอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ของปิยะนุช ธนพฤษณานันท์ และวิมลตรี  จันชูทอง (2554) ซึ่งได้ศึกษาประเด็นปัญหาการเพาะปลูกยางในนาข้าวด้วย โดยพบว่าเกษตรกรที่ปลูกยางในนาข้าวร้อยละ 97.8 (ของจำนวนทั้งหมด 46 ราย) ตอบว่าผลผลิตที่ได้ไม่เป็นตามที่คาดหวัง ร้อยละ 91.3 ตอบว่า ต้นยางเจริญเติบโตช้าและไม่ต้านทานโรค ที่เหลือร้อยละ 89.1 ,60.9 และ 52.2 ตอบว่าต้นยางเปิดกรีดได้ช้า ต้นยางยืนตายในช่วงหน้าแล้ง และต้นยางเอน และล้มง่ายเมื่อโดนลมแรง

 จากปัญหาด้านผลผลิตดังกล่าว ก็ไม่มีหลักประกันว่าการปลูกยางพาราในที่นา จะทำให้เจ้าของมีความมั่งคั่งได้อย่างที่หวังเสมอไป  สำหรับผลกระทบจากการรุกพื้นที่นาเพื่อปลูกยางพาราต่อความมั่นคงด้านอาหาร  ความเป็นครอบครัว ความเอื้ออาทรในชุมชน และวัฒนธรรม  จนส่งผลให้การพึ่งตนเองได้ของครัวเรือนและชุมชนมีน้อยลงนั้น สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล และคณะ (2551) ได้ศึกษาเรื่อง ศักยภาพและข้อจำกัดของการผลิตข้าว เพื่อความมั่นคงของชาวนาจังหวัดปัตตานี
 ทั้งนี้ จากการขยายการเพาะปลูกยางพาราอย่างไม่ค่อยมีขอบเขตในระยะหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขยายการเพาะปลูกเข้าไปในเขตป่าและในที่นานั้น หากพิจารณาผลกระทบแบบองค์รวมครบทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จากผลกระทบจากการสูญเสียป่าไม้  ป่าต้นน้ำ ความหลากลายทางชีวภาพ ผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัย รวมทั้งปัญหาความมั่นคงทางอาหาร อาจสรุปได้ว่าเป็นเกมที่มีผลลัพธ์ติดลบ (Negative Sum Game) หรือเป็นเกมที่ผู้เล่นทุกฝ่ายเสียประโยชน์ (Lose-Lose Situation) ก็เป็นได้

Tags :

view