จาก เดลินิวส์ออนไลน์
พื้นที่ภาคตะวันออกของไทยเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของ ประเทศ โดยมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 9.8 ล้านไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่ ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน มังคุด ลำไย ซึ่งในแต่ละปีมีการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศ คิดเป็น มูลค่าการส่งออกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และเมื่อมีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือการ ตรวจสอบสารพิษตกค้างก่อนส่งออก เพื่อสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัย และลดปัญหาการกักกันสินค้าของประเทศปลายทาง
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรในพื้นที่รับ ผิดชอบในภาคตะวันออก โดยเฉพาะการตรวจสอบสารพิษตกค้างก่อนการส่งออก ตาม พ.ร.บ.กักพืช ซึ่งห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้างของสวพ.6 แห่งนี้ เป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2005 จากกระทรวงสาธารณสุข
นางเกษสิริ ฉันทพิริยะพูน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สวพ.6 กล่าวว่า สวพ.6 มุ่งมั่นพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้าง มาตั้งแต่ปี 2545 ตั้งแต่การฝึกฝนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ การทำการทดสอบความชำนาญของห้องปฏิบัติการ ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน กระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2005 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2553
ขอบข่ายที่ได้รับการรับรองคือ การวิเคราะห์สารพิษตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส 5 ชนิด ได้แก่ ไดอะซินอน ฟิริมิฟอสเมทิล คลอร์ไพริฟอส เฟนิโทรไทออน และอีไทออน ในมะม่วง สำหรับสาเหตุที่เลือกขอรับการรับรองมาตรฐานการตรวจสารพิษตกค้างในมะม่วงเป็น พืชแรกนั้น เนื่องจากมะม่วงมีมูลค่าการส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก อีกทั้งการส่งออกไปยังประเทศปลายทางมีความเข้มงวดในเรื่องสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป
ที่ผ่านมาพบปัญหาสารพิษตกค้างในมะม่วงประมาณ 3-4% แต่ถ้าเป็นสินค้าส่งออกจะต้องไม่มีปัญหาสารพิษตกค้างเลย ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานเท่านั้น ดังนั้น ห้องปฏิบัติการแห่งนี้จึงเป็นตัวคัดกรองสินค้าด่านหนึ่ง ที่จะช่วยในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทาง โดยเฉพาะเมื่อห้องปฏิบัติการได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จะยิ่งทำให้ประเทศปลายทางให้การยอมรับในผลตรวจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบซ้ำจากประเทศปลายทาง
นางเกษสิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทำให้สามารถบริการด้านการวิเคราะห์ สารพิษตกค้างเป็นไปอย่างมีระบบ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ลดระยะเวลาในการให้บริการลงจากเดิมที่ 3 วันทำการ เหลือแค่ 2 วันทำการ นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับบริการได้สะดวก ทั้งนี้ ทาง สวพ.6 มีความมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันสินค้าส่งออกพื้นที่ภาค ตะวันออกของไทยให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
เกษตรกรหรือผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว สามารถนำตัวอย่างสินค้าที่จะส่งออกไปขอรับบริการตรวจสอบสารพิษตกค้างได้ที่ ห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี โทร. 0-3939-7134, 0-3939-7076.