อ็อกแฟมคาดภายใน 20 ปีราคาอาหารจะแพงขึ้น 2 เท่า
จาก ประชาชาติธุรกิจ
รายงานอ็อกแฟมระบุราคาอาหารสำคัญบางชนิด เช่น ข้าวโพด จะแพงขึ้น 2 เท่าใน 20 ปีข้างหน้า เพราะโลกเผชิญกับวิกฤตอาหารอันเกิดจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณผลผลิตคงที่ และภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
โดยความต้องการ อาหารจะเพิ่มขึ้น 70-90% ภายในปี 2573 ขณะที่ภัยแล้ง น้ำท่วม และการเปลี่ยนรูปแบบเกษตรกรรมอันเป็นผลจากโลกร้อน จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อระบบอาหารที่พังแล้ว (broken food system) รายงานฉบับนี้ยังกล่าวหาว่าเทรดเดอร์คอมโมดิตี้มีส่วนทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ โดยมี 3 บริษัทควบคุม 90% ของการซื้อขายข้าว
อ็อกแฟมเรียกร้องให้ สร้างระบบแบบทวิภาคีเพื่อสำรองอาหาร หยุดอุดหนุนไบโอดีเซล เพื่อให้มีการนำธัญพืชไปใช้เพื่อการบริโภคมากขึ้น ตลอดจนกำหนดข้อบังคับควบคุมการเก็งกำไรในตลาดอาหารระหว่างประเทศด้วย
อ็อกแฟมเตือน20ปีราคาอาหารโลกเพิ่ม2 เท่า
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อ็อกแฟมเตือนราคาอาหารโลกจะเพิ่ม2 เท่าใน 20 ปีข้างหน้าหากทั่วโลกไม่ปฎิรูประบบอาหารโลก
มูลนิธิอ็อกแฟม องค์กรการกุศลชื่อดังของอังกฤษ ระบุในรายงานประจำปีชื่อ "โกรอิ้ง อะ เบทเทอร์ ฟิวเจอร์" ว่า ราคาอาหารหลักของโลกโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 120 -180 % ภายในปี 2573 โดยปัจจัยครึ่งหนึ่ง ที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำโลกปฏิรูปตลาดอาหารให้โปร่งใสมากขึ้น ยกเลิกการส่งเสริมพลังงานชีวมวล ที่ต้องใช้พืชเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต รวมถึงลงทุนใน "กองทุนด้านสภาวะอากาศ
ของโลก" เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวนา
นางบาบารา สต็อกกิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอ็อกแฟม ระบุว่า จะต้องมีการปรับปรุงระบบอาหารทั่วโลกครั้งใหญ่ เพื่อเอาชนะความท้าทายต่างๆ ทั้งสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไป ราคาอาหารโลกที่ทะยานขึ้นต่อเนื่อง และทรัพยากรที่ดิน น้ำและพลังงานที่มีจำกัด โดยทุกวันนี้ มีคน 1 ใน 7 ของโลกที่ต้องทนหิวโหย แม้โลกจะสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการ
ในรายงานฉบับนี้ อ็อกแฟมยังได้ย้ำถึง พื้นที่ที่มีวิกฤตด้านอาหาร 4 แห่ง ประกอบด้วย "กัวเตมาลา" ที่มีประชาชนถึงกว่า 8.6 แสนคนที่เสี่ยงขาดแคลนอาหาร "อินเดีย" ที่ต้องจ่ายค่าอาหารแพงมากกว่าอังกฤษ 2 เท่า "อาเซอร์ไบจัน" ที่ราคาอาหารพุ่งถึง 20% จากเมื่อ 6 เดือนก่อน และ "แอฟริกาตะวันออก" ที่ประชาชนราว 8 ล้านคนเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารเรื้อรัง
ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนนับล้านคนต้องเผชิญกับความยากจน โดยเดือนเมษายน ราคาอาหารเพิ่มขึ้นราว 36 %จากระดับเมื่อปีก่อน ทำให้เกิดวิกฤตการประท้วงของประชาชนในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ