จาก ประชาชาติธุรกิจ
กรมวิชาการเกษตรรับเผือกร้อน ยอมผ่อนปรนผู้ผลิต/จำหน่ายยาฆ่าแมลง ขายยาตามทะเบียนเก่าต่อไปได้อีก 2 ปี หวังแก้ปัญหายาขาดตลาดส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั่วประเทศ ด้านสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรยังรุกต่อยื่นเรื่องปัญหาการขึ้นทะเบียนยาใหม่ต่อ คณะกรรมาธิการเกษตร วุฒิสภา ชี้ถึงผ่อนปรนให้จำหน่ายต่อไปได้ แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้าสารตั้งต้นได้ทันตามเงื่อนไข
ดร.วีร วุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการแก้ไขปัญหากรณีที่กรมวิชาการเกษตรจะยกเลิกทะเบียนยาจำกัดศัตรู พืช/วัชพืชมากกว่า 20,000 รายการ ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้วันที่ 22 สิงหาคมที่จะถึงนี้ว่า สมาคมร่วมกับสมาคมอารักขาพืชไทย ได้ประเมินเบื้องต้นจะมีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมสามารถขึ้นทะเบียนยา ใหม่ได้ไม่เกิน 6% จากจำนวนยาทั้งหมดที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผลิตและ
จำหน่าย ยากำจัดศัตรูพืช/วัชพืชต่างได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับใหม่หลายประการด้วยกัน คือ 1) ระยะเวลาในการเตรียมการขึ้นทะเบียนยาใหม่เหลือเวลาน้อยเกินไป (ประมาณ 2 ปี) เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน ยาล่าช้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการเตรียมเอกสารและผลทางพิษวิทยาไม่ทัน
2) ความยุ่งยากในการเตรียมข้อมูล จากเหตุที่กรมวิชาการเกษตรบังคับให้ข้อมูลด้านพิษวิทยาทั้งหมดจะต้องผ่านการ ทดลองจากห้องทดลอง GLP (Good Laboratory Practice) ตามมาตรฐาน OECD ซึ่งประเทศไทยไม่มีห้องทดลองตามมาตรฐานนี้ ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในการทดลองเพิ่มขึ้น และ 3) สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยาการวัชพืช ปฏิเสธที่จะรับเป็นผู้ทดลองประสิทธิภาพของยาตามประกาศของกรมวิชาการเกษตร กำหนด ส่งผลให้ยาใหม่ไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นผู้ทดลองประสิทธิภาพตามกฎหมาย
ล่า สุดสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรร่วมกับสมาคมอารักขาพืชไทย ได้เข้าพบนายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อหาทางแก้ไขปัญหากรณีผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนยาได้ทัน ภายในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ซึ่งการหารือปรากฏว่ากรมวิชาการเกษตรรับฟังและยอมรับปัญหาที่เกิดจากการ บังคับใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับใหม่ โดยยินยอมผ่อนปรนให้ผู้ผลิต-ผู้นำเข้ายากำจัดศัตรูพืช/วัชพืช และสารตั้งต้น สามารถครอบครองต่อไปได้อีก 2 ปี หรือเท่ากับระยะเวลาที่ผู้จำหน่าย (ร้านค้าวัสดุทางการเกษตร) สามารถจำหน่ายยาตามทะเบียนเก่าต่อไปได้อีก 2 ปีเช่นกัน
"การผ่อนปรนระยะเวลาการครอบครองและจัดจำหน่ายในครั้งนี้มี เงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการจะต้องนำเข้าสารตั้งต้นและผลิตยาให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือน มิ.ย. 2554 กรมวิชาการเกษตรจะผ่อนปรนให้จำหน่ายยาลอตนี้ตามทะเบียนเก่าต่อไปได้อีก 2 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาฆ่าแมลง ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการจะมีการเตรียมตัว 2 เรื่อง คือ การหารือเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับใหม่กับการขึ้นทะเบียนยาใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อนปี 2556" ดร.วีรวุฒิกล่าว
ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการนั้น สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรได้ยื่นเรื่องปัญหาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายฯต่อคณะ กรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เพื่อขอให้เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนยาใหม่ เพราะแม้ว่ากรมวิชาการเกษตรจะผ่อนผันให้มีการผลิตและจำหน่ายยาตามทะเบียน เก่าต่อไปได้อีก 2 ปี แต่ผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 50 ไม่สามารถนำเข้าสารตั้งต้นเพื่อนำมาผลิตได้ทันภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนยากำจัดศัตรูพืช/ วัชพืชในการปลูกพืชฤดูใหม่อย่างแน่นอน