จาก ประชาชาติธุรกิจ
สื่อจีนรายงานภัยแล้งในภาคกลางของจีน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญ จะยืดเยื้อไปถึงต้นเดือนมิถุนายน เพราะคาดว่าปริมาณน้ำฝนจะไม่เพียงพอ
พีเพิล เดลี รายงานว่า ภาวะแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 50 ปีของจีนกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก 7 ล้านเฮกตาร์ โดยส่วนใหญ่อยู่ใน 5 มณฑลคือหูหนาน หูเป่ย เจียงซี อันฮุย และเจียงซู ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญตามแนวแม่น้ำแยงซี ทั้งนี้พื้นที่ปลูกข้าวใน 5 มณฑลคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของประเทศ
ด้าน สำนักงานใหญ่ด้านบรรเทาภัยแล้งและน้ำท่วมเปิดเผยผ่านพีเพิล เดลีว่า ชาวนาไม่สามารถปลูกข้าวต้นฤดูบางส่วนได้ หรือนาข้าวไม่มีน้ำเพียงพอเนื่องจากภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมา จีนมีผลผลิตข้าวต้นฤดู 31 ล้านตัน หรือแค่ 16% ของผลผลิตข้าวรวมของประเทศที่มีราว 196 ล้านตัน นอกจากนี้ทางการจีนระบุว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อข้าวสาลีน้อย เพราะพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่แหล่งเพาะปลูกสำคัญของข้าวสาลี
ขณะเดียว กัน ซิตี้ อินเวสเมนท์ รีเสิร์ช แอนด์ แอมป์ วิเคราะห์ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวต้นฤดูคิดเป็นประมาณ 6% ของผลผลิตข้าวทั้งหมดของจีน ดังนั้น ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด เชื่อว่าจะกระทบต่อผลผลิตข้าวทั้งปีของจีนประมาณ 0.7% เท่านั้น และคาดว่าภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายอาหารในวงจำกัดเท่านั้น แต่หากภัยแล้งยืดเยื้อต่อไป อาจกระทบต่อการปลูกข้าวปลายฤดู ซึ่งจะเริ่มปลายเดือนมิถุนายน และเป็นผลผลิตข้าวส่วนใหญ่ของประเทศ
ทาง การจีนระบุว่า ระดับน้ำของทะเลสาบโปหยาง แหล่งน้ำจืดใหญ่ที่สุดของประเทศ ต่ำกว่าระดับปกติ 4.64 เมตร ขณะที่เขื่อนสามโตรก ได้ปล่อยน้ำสู่พื้นที่ปลายน้ำ 11,000-12,000 คิวบิกเมตรต่อวินาที ไปจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน เพื่อช่วยชาวบ้าน ระบบชลประทาน และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ก่อนจะถึงฤดูฝน
ภัยแล้งปีนี้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นและกินเวลานานขึ้น หากเทียบกับในปี 2543 , 2537, 2529