จาก เดลินิวส์ออนไลน์
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจพอเพียงเติมกำไรได้ยั่งยืน” ในงานสัมมนาวิชาการเศรษฐกิจพอเพียง ด้านธุรกิจ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดย สำนักงาน กปร. ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และหอการค้าไทย ว่า การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมนั้นก็คือ การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรธุรกิจ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่สังคม
“อดีตที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจจะมองเรื่องของกำไรเป็นหลัก โดยมองการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นเรื่องของการบริจาค หรือการกุศลเมื่อมีการร้องขอ ต่อมาทั่วโลกต่างเริ่มตื่นตัวกับทิศทางใหม่ของการพัฒนา นั่นคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจได้รับการยอมรับ และสนับสนุนจากสังคมอันจะส่งผลดีต่อชื่อเสียงจนเกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ดีและ ก่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในที่สุด”ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าว
ทางด้าน อาจารย์ทองทิพพา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ยกตัวอย่าง ของการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรธุรกิจในระหว่างการบรรยายในงานเดียว กันนี้ ถึงโมเดลการดำเนินกิจกรรม เพื่อสังคมโดยการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยว่า คือการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่ดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และสังคมก็ดีตามไปด้วย มีการปลูกฝังให้มีจิตอาสา จิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตนเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการ พัฒนาชาติมีความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันมีการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน
การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษาซับผุดโมเดล ณ หมู่บ้านซับผุด จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยภาคธุรกิจหลายรายเข้าร่วมเป็นภาคี มีแนวคิดที่จะขยายผลการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การพัฒนา ชุมชนในภาคชนบท แบบบูรณาการความร่วมมือตามกรอบแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ใช้แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม เพื่อจะได้เป็นต้นแบบของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ รวมทั้งภาคประชาชน คือ คนในชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นพลังในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
หมู่บ้านซับผุด ตั้งอยู่ในหมู่ 14 ต.ยางสาว อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 10,975 ไร่ มีประชากรทั้งสิ้น 227 ครัวเรือน เป็นชาย 269 คน หญิง 212 คน รวม 481 คน ประกอบอาชีพการเกษตร ทำไร่ 137 ครัวเรือน ทำนา 15 ครัวเรือน ทำสวน 1 ครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ 2 ครัวเรือน ประกอบอาชีพค้าขาย 12 ครัวเรือน ประกอบอาชีพรับจ้าง 60 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพด อัตราจ้างแรงงานในหมู่บ้านประมาณ 180 บาท
โครงการเริ่มต้นด้วยการจัดประชุมร่วมกับชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นและความร่วมมือในการวางแผนพัฒนาหมู่บ้านซับผุด โดยความต้องการของชุมชนเบื้องต้น คือ ความต้องการมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เนื่องจากพิจารณาถึงปัญหาราคาผลผลิตของเกษตรกรตกต่ำ ประกอบกับสระน้ำในหมู่บ้านไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอกับหนี้สิน ที่ประชุมตกลงร่วมกันที่จะจัดทำโครงการประปาภูเขาเพื่อการเกษตรและสิ่งแวด ล้อมแบบยั่งยืนขึ้น เพื่อให้คนในชุมชนนำพลังงานธรรมชาติที่มีอยู่ใกล้ตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สูงสุด เพราะนอกจากจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน อีกทั้ง ยังทำให้ชุมชนได้เรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเองอย่างยั่งยืนด้วย
จากนั้น จึงมีการวางท่อน้ำจากน้ำตกซับผุดมาใช้ในหมู่บ้านด้วยความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นแรงงานของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งทุกฝ่ายได้ทำงานเพื่อประโยชน์ของหมู่บ้านโดยไม่คิดค่าจ้างแรงงานใด ๆ ระหว่างการวางท่อน้ำประชาชนในพื้นที่ก็เตรียมแปลงปลูกพืชนอกฤดู และทำการเพาะปลูกทันที ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจยิ่ง ด้วยมีน้ำเพียงพอแก่การบำรุงต้นพืช เป็นผลให้ชาวบ้านมีรายได้อย่างมั่นคง แม้จะเป็นช่วงฤดูแล้ง ก็ตาม
ผลสำเร็จจากการดำเนินงานในโครงการพัฒนาหมู่บ้านซับผุดนั้น ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ในลักษณะการบูรณาการ ความร่วมมือ ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นำไปสู่ความยั่งยืนของสังคมไทย ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจากความสำเร็จในครั้งนี้ผู้ที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ จะได้นำไปขยายผลให้เกิดการพัฒนาชุมชนอื่นในลักษณะการประสานความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วนของสังคมต่อไป.