สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตะลึงรุกป่า55ล้านไร่รับยาง-ปาล์มบูม 29จว.เหี้ยน-ป่าไม้เต้นตั้งฉก.ยึดคืน

จาก ประชาชาติธุรกิจ

"ยาง-ปาล์ม" บูมทำป่าพังยับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯชี้ถึงจุดวิกฤต นายทุนชาวบ้านบุกรุกถือครองทั่วประเทศ 55 ล้านไร่ กรมป่าไม้-กรมอุทยานฯงัดมาตรการแก้ไขเร่งด่วน ปูพรมบินตรวจสอบต่อเนื่องตลอดทั้งปี โฟกัสจุดล่อแหลม 29 จังหวัด "ระนอง เมืองกาญจน์ เชียงใหม่ เชียงราย สุราษฎร์ธานี นครศรีฯ พังงา เมืองจันท์" ก่อนส่งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินยึดคืน พร้อมฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งพ่วงคดีอาญา



แหล่ง ข่าวจากกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิงแวดล้อมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและที่ดินของรัฐเพื่อครอบครองที่ดินหรือใช้สำหรับ ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้โตเร็วชนิดอื่น ๆ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบทำให้พื้นที่ป่าไม้และที่ดินของรัฐถูกทำลายจำนวนมากจนถึงขั้น วิกฤต ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมป่าไม้ต้องเร่งหาทางป้องกันแก้ไข ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน ล่าสุด นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการให้สำนักป้องกันและรักษาป่าและควบคุมไฟป่า จัดทำแผนปฏิบัติงานการบินตามแผนการใช้อากาศยานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายหลักที่มีการบุกรุกทำลายป่ารุนแรง 29 จังหวัด เป้าหมายรองลงไป 30 จังหวัด และเป้าหมายทั่วไปอีก 5 จังหวัด เพื่อตรวจสอบการบุกรุกป่าในพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยง หากตรวจพบก็จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ทางภาคพื้นดินเข้าไปจับกุมและยึดพื้นที่ป่า ที่ถูกบุกรุกกลับคืนมา

ขณะเดียวกันเพื่อให้มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา ในการบุกรุกพื้นที่ป่าและที่ดินของรัฐเกิดผลในทางปฏิบัติมากขึ้น อธิบดีกรมป่าไม้ได้แต่งตั้งผู้ชำนาญการในการประเมินมูลค่าความเสียหายทาง สิ่งแวดล้อม ขึ้นทำหน้าที่ประเมินมูลค่าความเสียหายและเป็นผู้เบิกความในศาล เนื่องจากกรมป่าไม้มีนโยบายที่จะดำเนินคดีกับผู้บุกรุกป่าทั้งในทางอาญาและ ทางแพ่ง โดยในส่วนของการฟ้องร้องทางแพ่งนั้นจะให้ผู้ก่อความเสียหายต่อทรัพยากร ป่าไม้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งหมด

เช่น เดียวกันกับที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดแนวทางในการฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้บุกรุกแผ้วถาง หรือครอบครองพื้นที่ป่า โดยระบุว่าหากตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือพืชผลอาสินขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ก็จะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยใช้มาตรการทางปกครอง ออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดรื้อถอน หรือทำลายสิ่งปลูกสร้างหรือพืชผลอาสิน หรือฟ้องขับไล่เพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือพืชผลอาสินตามแต่กรณี




ก่อน หน้านี้ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติฯได้กำชับหน่วยงานในสังกัดว่า หากตรวจสอบพบว่าพื้นที่ใดมีการบุกรุกป่าโดยการปลูกไม้ชนิดอื่น เช่น ยางพารา ปาล์ม หรือพืชสวนอื่น ๆ ก็ให้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการออกคำสั่งทางการปกครอง เพื่อทำการตัดฟัน หรือถอนพืชผลอาสินแล้วปลูกป่าทดแทน ทั้งนี้หากเป็นการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ให้อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ดำเนินการ หากบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดำเนินการ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะถูกสอบสวนฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และจะถูกดำเนินการทางวินัยและอาญา และให้มีผลถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการดำเนินการตามแผนการใช้อากาศยานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ ดูแลสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ รวม 9 เครื่อง ใช้ปฏิบัติงานประจำศูนย์ปฏิบัติการบิน 9 ศูนย์ทั่วประเทศ ภารกิจหลักคือการตรวจปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ควบคุมและดับไฟป่า สำรวจถ่ายภาพการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจาก พระราชดำริในถิ่นทุรกันดาร และบินสนับสนุนการตรวจราชการ

ในส่วนของการบินตรวจสภาพป่านั้นจะโฟกัส ไปที่การป้องกันรักษาป่าในพื้นที่ที่ปัจจุบันล่อแหลมต่อการถูกบุกรุกทำลาย โดยได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายหลักที่มีความสุ่มเสี่ยงสูง 29 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ เชียงราย พัทลุง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร เชียงใหม่ กาญจนบุรี มุกดาหาร นครศรีธรรมราช น่าน ลำปาง ลำพูน เลย นครราชสีมา พังงา ตราด พิษณุโลก พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ ยโสธร อำนาจเจริญ หนองคาย อุบลราชธานี และจันทบุรี

เป้าหมายรอง 30 จังหวัด คือ ยะลา กำแพงเพชร นราธิวาส ปราจีนบุรี สระแก้ว ตรัง สงขลา อุทัยธานี สุโขทัย ระยอง ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา สกลนคร ราชบุรี นครพนม ปัตตานี ชัยภูมิ สระบุรี สตูล สุรินทร์ อุตรดิตถ์ เพชรบุรี มหาสารคาม ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อุดรธานี นครนายก หนองบัวลำภู ชลบุรี และภูเก็ต ที่เหลือเป็นเป้าหมายทั่วไป 5 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และขอนแก่น

โดย ในการดำเนินการตามแผนการบินจะมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานทำหน้าที่เป็นหน่วย งานสนับสนุน อาทิ สำนักงานการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ผู้บังคับการตำรวจภูธรทุกจังหวัด กองทัพบก และกองทัพอากาศ ฯลฯ พร้อมกับจะประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละพื้นที่ด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับแนวทางในการบินตรวจสอบการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จะใช้วิธีบินสำรวจและถ่ายภาพพื้นที่เพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดไว้เป็นหลัก ฐาน จากนั้นจะจัดส่ง เจ้าหน้าที่ทางภาคพื้นดินเข้าไปในจุดที่ตรวจพบว่ามีการบุกรุกทำลายป่า เพื่อจับกุมและดำเนินคดีกับผู้บุกรุกโดยเฉียบขาดทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง โดยในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น อธิบดีกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 แต่งตั้งผู้ชำนาญการทำหน้าที่ในการประเมินมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม บางประการ หลังการทำลายป่าไม้และเบิกความเป็นพยานในศาลรวม 16 ราย นอกจากนี้หากพื้นที่ใดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าอยู่ในระดับที่รุนแรง ก็จะแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ อย่างล่าสุดได้แต่งตั้งชุดเฉพาะกิจป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าใน พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา เป็นต้น

ขณะ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดแนวทางในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่กระทำการโดยมิชอบด้วย กฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่เป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ ดังนี้ การคิดค่าเสียหายทางแพ่งกรณีเป็นพื้นที่ป่าที่ไม่ใช่ป่าต้นน้ำลำธาร คิดค่าเสียหายไร่ละ 18,244.22 บาท พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารอื่น ๆ คิดค่าเสียหายไร่ละ 150,000 บาท ส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ใช้สูตรการคำนวณค่าเสียหายจากการทำลายป่าชายเลน ตามที่ได้ว่าจ้างให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษา เมื่อปี 2551 คือค่าเสียหายจากการทำลายป่าชายเลนไร่ละ 151,090 บาท ฯลฯ

แหล่ง ข่าวกล่าวต่อว่า สาเหตุที่หลายหน่วยงานต้องเร่งจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า เป็นเพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นรุนแรงในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ช่วงปลายปี 2553 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าได้รับรายงานจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552-กันยายน 2553 มีการตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่ป่าถูกบุกรุกมากขึ้น 55 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมป่าไม้ 17 ล้านไร่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ 37 ล้านไร่ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1 ล้านไร่ ไม่รวมที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 12 ล้านไร่ ซึ่งน่าจะมีการบุกรุกในลักษณะเดียวกันจำนวนไม่น้อยอย่างในจังหวัดนครสวรรค์ ราชบุรี กาญจนบุรี เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการบุกรุก ที่ดินราชพัสดุใน 3 อำเภอในจังหวัดนครสวรรค์ ล่าสุดกรมธนารักษ์จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยประเด็น ปัญหาข้อกฎหมายว่า สามารถที่จะยกเว้นไม่ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้หรือไม่

Tags :

view